กทม. 12 ธ.ค.- กทม.ทำพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า ก่อนซ่อมแซม-ทาสี บูรณะครั้งใหญ่ในรอบกว่า 10ปี คาดแล้วเสร็จเดือนมีนาคมปีหน้า
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. เจ้าหน้าที่สำนักผังเมือง เข้าร่วมพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประกอบพิธีเวลาประมาณ 13.00น.ของวันนี้ (12 ธ.ค.) เป็นฤกษ์ยามงามดี ที่ทุกฝ่ายมีความพร้อมเพียงกัน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การบูรณะซ่อมแซมในครั้งนี้ เกิดจากสำนักผังเมืองตรวจพบ ความชำรุดที่เสาชิงช้ามีรอยแตก สีซีด และบางจุดมีเชื้อรา เพราะเป็นไม้สักต้นเดียวที่เคยบูรณะครั้งใหญ่ ผ่านมากว่า 10ปี เสาชิงช้า บางส่วนจึงเกิดสภาพชำรุดตามกาลเวลา ซึ่ง กทม.ได้หารือทำงานร่วมกับกรมศิลปากรอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเสาชิงช้าถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กทม.ได้ดำเนินการติดตั้งนั่งร้าน พร้อมนำสแลนมาคลุมรอบเสาชิงช้า ซึ่งมีการซ่อมแซมไปแล้วบางส่วน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวไม่ควรเข้ามาถ่ายรูป เพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 ตามกรอบระยะเวลาดำเนินการ 150วัน ภายใต้งบประมาณกว่า 2ล้านบาท เพื่อยับยั้งการชำรุด และให้เสาชิงช้าคงสภาพความสง่างาม เป็นสัญลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว อยู่คู่กับคนกรุงตลอดไป
สำหรับเสาชิงช้าสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2327 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเพื่อประกอบการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย พระราชพิธีสำคัญในพระราชพิธี 12 เดือนที่ปฎิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ในเวลาช่วงเช้าขึ้น 7 ค่ำและเวลาเย็นขึ้น 9 ค่ำเดือนยี่ โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นประธานพิธีเรียกว่า พระยายืนชิงช้า และให้บริวารพราหมณ์ที่แข็งแรงขึ้นโล้เสาชิงช้า กระทั่งสมัยต้นรัชกาลที่ 8 ได้ยกเลิกพิธีประกอบโล้ชิงช้า
กระทั่งในปี 2547 เสาชิงช้าเกิดความเสียหายจึงมีการบูรณะซ่อมแซมเปลี่ยนไม้ชิงช้าหลายครั้ง จนเนื้อไม้ชำรุดผุในทุกส่วน ไม่อาจบูรณะซ่อมแซมได้ ทำให้ในปี 2549 กทม.จึงได้ดำเนินการบูรณะ ปฎิสังขรณ์ เสาชิงช้าขึ้นใหม่ โดยความเห็นชอบจากกรมศิลปากรและได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ใช้ไม้สักทองจากอำเภอเด่นชัย จ.แพร่ มาใช้ในการทำไม้เสาชิงช้า.-สำนักข่าวไทย