กรุงเทพฯ 11ธ.ค. – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งข้อความผ่านไลน์ถึงข้าราชการ ให้ใช้ความรู้เร่งแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ถึงผู้บริหารและข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้เร่งทำงานแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูก ปลูกพืชชนิดอื่นแซมต้นยาง จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ ตลอดจนปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ โดยเนื้อหาระบุว่า ในช่วงนี้นอกจากสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วประเทศ เช่น ยางพารา ข้าว พืชผลทางการเกษตร และผลไม้ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของการเกษตรบ้านเราคือ การจัดหาหรือพัฒนาแหล่งน้ำหรือการหาน้ำให้มีประจำพื้นที่แก่เกษตรกร เพราะคนไทยผูกพันกับแหล่งน้ำมาโดยตลอด
“ขอให้อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พิจารณารวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น บ่อหรือสระที่กรมฯ ได้ไปดำเนินการไว้ในพื้นที่ต่างๆ ว่า ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยของประชาชนมากน้อยเพียงใด ที่ไหนบ้าง โดยแยกเป็นรายจังหวัดหรือรายภาคคร่าวๆก็ได้ เพื่อให้เห็นภาพว่าพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่ อย่างไร” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีนโยบายให้ชาวสวนยางลดพื้นที่ปลูกยางหรือปลูกพืชอื่นๆแซมสวนยางหรือปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไว้แล้ว โดยในพื้นที่สวนยางหรือใกล้เคียงนั้น หากไม่มีแหล่งน้ำแล้ว ชาวสวนก็ไม่ทราบจะไปปลูกพืชอะไรหรือทำอะไรที่ดีกว่าปลูกยาง แต่ถ้าสามารถหาแหล่งน้ำหรือหาทางพัฒนาพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำไว้ด้วยก็จะทำให้เกษตรกรมีทางออกหรือทางเลือกในการทำการเกษตรที่ผสมผสาน หลากหลายได้มากขึ้นกว่าเดิม และจะช่วยให้นโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วตามสภาพของพื้นที่และเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย เพราะจะเป็นการช่วยถ่ายทอดตัวอย่างที่ดีและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า หากข้าราชการคนใดมีความรู้หรือเชี่ยวชาญการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำในสวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียง ขอให้ช่วยเสนอแนะกรมพัฒนาที่ดินหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย หรือหากใครมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหาแหล่งน้ำตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 เช่น การทำหลุมขนมครกหรือแก้มลิงเก็บน้ำ/การชักน้ำลงคลองไส้ไก่หรือการสร้างเหมืองฝายชะลอน้ำหรือเก็บน้ำโดยใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่มาทำแหล่งน้ำดังกล่าว โดยให้ชาวบ้านหรือชาวสวนยางได้ออกแรงงานแล้วส่วนราชการซื้อวัสดุให้ชาวบ้านมาร่วมกันทำก็ได้ หรือในบางแห่งอาจร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำธนาคารน้ำใต้ดินได้ ทั้งนี้ขอให้อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทาน ปรึกษาเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำกับ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะมีความเชี่ยวชาญ
นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับงบประมาณดำเนินการนั้น หากมีงบประมาณประจำปีตามแผนงานอยู่แล้วก็ให้รีบดำเนินการหรือขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณพัฒนาจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือต่อยอดขยายผลโครงการ 9101 หรือประสานงานภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ที่มีงบประมาณดูแลสังคม (CSR) หรือทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณกลางสำรองจ่ายมาที่กระทรวงฯ อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรบางพื้นที่ได้รวมตัวกันในรูปกลุ่มเกษตรกรตามลักษณะอาชีพหรือจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่างได้ผลดีซึ่งกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้จะมีความเข้มแข็งกว่าเกษตรกรรายบุคคลทั่วไป บางกลุ่มสามารถบริหารงานดูแลสมาชิกในกลุ่มได้ดี มีการใช้ความรู้ทางด้านการทำธุรกิจหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ทำให้มีรายได้ครัวเรือนมากขึ้นเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพ
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพยายามจัดสรรงบประมาณให้เกษตรกรที่สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งแล้ว มีงบประมาณหรือปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรประจำกลุ่มเป็นกรณีพิเศษด้วย ขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายรองปลัดกระทรวงและอธิบดีที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดทำข้อมูล (big data) กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวไว้ให้เป็นระบบ เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ตามกรม กอง ของกระทรวงเกษตรฯหรือให้กระทรวงอื่นๆ นำไปจัดทำโครงการประสานเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้นด้วย”นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา ยังขอให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอำเภอและตำบลหมู่บ้าน ต้องร่วมกันทำงานในพื้นที่เดียวกันตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน ไม่แยกส่วน ไม่แยกกรมกอง แต่ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแบบครบวงจร หากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานหรือมีข้อเสนอแนะหรือมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานแล้วก็ขอให้รายงานมายัง กระทรวงเกษตรฯด้วยเพื่อส่วนกลางจะได้นำมาขยายผลหรือปรับปรุงแก้ไขให้งาน กระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย