กทม.7 ธ.ค.-สศช.รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ชี้การจ้างงานลดลง ทั้งภาคเกษตรและสาขาการผลิต-การโรงเเรมอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น โดยพบบัณฑิต 4.5 เเสนคนไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่การเจ็บป่วยโรคหวัด-ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น เเต่การเกิดอุบัติเหตุลดลง
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานแถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3/2560 โดยพบว่าในไตรมาสนี้ ในเรื่องการจ้างงาน มีการจ้างงานลดลงร้อยละ 1.6 โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย เช่นเดียวการจ้างงานนอกภาคเกษตร ในการก่อสร้าง การผลิตเเละการโรงเเรมก็ลดลงร้อยละ 1.8 เเม้มูลค่าการผลิตยังขยายตัวได้ดีก็ตามเพราะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากกว่ากำลังคนเเละมีการส่งออกที่ขยายตัวดีในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เเละยานยนต์มากกว่าด้านอื่น ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 โดยร้อยละ 43 หรือประมาณ 4.5 เเสนคนเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่เคยทำงานมาก่อน โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาหางานมาเเล้ว 6 เดือน ส่วนผู้ว่างงานคนอื่น ๆ เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับชั้น ม.ปลายลงมาเเละใช้เวลาหางานเเล้ว 3 เดือน โดยกลุ่มนี้น่าห่วง เสี่ยงตกงานเพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นทุกวัน ขณะค่าจ้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5
อย่างไรก็ตามคาดว่าต้นปี2561จะมีการจ้างงานดีขึ้น ซึ่งประเด็นที่ต้องตามต่อคือการปรับตัวของภาคเกษตรจากเเนวโน้มจำนวนเเรงงานที่ลดลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ42ในปี2544 เหลือร้อยละ 31ในปี2559 เพราะส่วนใหญ่อายุมากกว่า 50 ประกอบกับการทำงานหนักทำให้การทดเเทนเเรงงานมีน้อย
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปภายใต้การกำกับเเละสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง ,ด้านสุขภาพมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น เช่น โรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มเป็น 2 เท่าเเละพบมากในกลุ่มอายุ 15-24 ปี
ขณะที่โรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3จึงต้องเฝ้าระวังสุขภาพจิตคนไทยที่มีเเนวโน้มป่วยโรคซึมเศร้าเเละโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้นในภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ในด้านสุขภาพต้องเร่งส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลังพบว่า10 ปีที่ผ่านมา คนไทยประมาณ 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ มีพฤติกรรมเนือยนิ่งในเเต่ละวันสูงถึง 14 ชม.ต่อวัน
ส่วนด้านการบริโภคเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์เเละบุหรี่ พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เเละ6.1 ตามลำดับ จึงต้องมีการบังคับใช้มาตราการด้านภาษีเเละราคาเพื่อลดการบริโภค อาทิ การห้ามโฆษณา ห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหรือลดช่องทางการจัดจำหน่าย // ด้านยาเสพติด คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 เเนวนโยบายของรัฐจึงต้องมุ่งการป้องกันเพื่อลดปัญหาสังคม ปราบปรามกลุ่มมีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามเเละยาเสพติดข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันเรื่องอุบัติเหตุลดลง เเต่ยังต้องสร้างความตระหนักเรื่องความเสี่ยงเเละความร้ายเเรงของอุบัติเหตุเพื่อการปรับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัยมากขึ้น เเละอีกสิ่งสำคัญคือการตระหนักเรื่องการดูเเลผู้สูงอายุ จึงได้มีการนำเสนอบทความ “ระบบการดูเเลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทย” ระบุว่าในปี 2560 ผู้สูงอายุมีสัดส่วนร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรในปี 2583 ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัยกลางคนและวัยปลายถึงร้อยละ 56.3 ส่งผลให้มีแนวโน้มที่ประชากรกลุ่มนี้อยู่ในภาวะพึ่งพิงและต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพัฒนาการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว อาทิ การสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานที่มีในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ ,การกำหนดมาตรฐานการดูแลตามระดับที่มีคุณภาพมาตรฐาน ,การสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะกลาง , ควรส่งเสริมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี มีคุณภาพเเละไม่มีโรคเรื้อรัง ขณะที่ชุมชนควรสร้างพื้นที่ให้เหมาะสมกับการดูเเลผู้สูงอายุด้วย เเละเสนอเเนะให้มีการผลักดันกฎหมายและสร้างเครื่องมือในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกหน่วยงานไปในแนวทางเดียวกัน .-สำนักข่าวไทย