ศูนย์บริการประชาชน 6 ธ.ค.-กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังคงปักหลักค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เสนอยกร่างกฏหมายใหม่ เตรียมปักหลัก 7 วัน ด้านกลุ่มนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ชี้ไม่เห็นผลกระทบต่อสุขภาพ-สภาพแวดล้อม หวั่นหากโครงการยุติ ภาคใต้จะไม่มีไฟฟ้าใช้
กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดย นายเลิศศักดิ์ คำพงษ์ศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่จะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฏหมายใหม่ ที่มีตัวแทนภาครัฐและประชาชนในสัดส่วนที่เท่ากัน รวมถึงหลักการใด ๆ จะต้องผ่านการเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเครือข่ายฯ จะปักหลักชุมนุมค้างคืนที่ริมฟุตบาท หน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นเวลา 7 วัน เพื่อรอคำตอบ ตามที่ได้ยื่นขอชุมนุมสาธารณะกับ สน.ดุสิต ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่
โดยเครือข่ายประชาชนฯ เห็นว่าการนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 มายัดไส้ใส่ลงไปในมาตรา 50 วรรคสี่ ที่ละเว้นให้กิจการด้านคมนาคมขนส่งและการสร้างเขื่อนที่ตัดผ่านเข้าไปในผืนป่าและพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ รวมถึงกิจการด้านความมั่นคงทางพลังงานและสัมปทานขุดเจาะะสำรวจผลิตปิโตรเลียม โดยอนุญาตให้ดำเนินการหาผู้ประมูลโครงการได้ก่อน โดยไม่ต้องรอให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กิจการเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาวะอนามัยของประชาชน ขณะเดียวกันการขยายอำนาจและเปลี่ยนวิสัยทัศน์คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เป็นองค์กรมุ่งเน้นประโยชน์แก่การลงทุนเป็นหลัก ย่อมไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้
ด้าน พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต กล่าวว่า การขอปักหลักค้างคืนเป็นการยื่นตามสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การขออนุญาต ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการปักหลักชุมนุมดังกล่าว หากพบว่ามีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะประกาศให้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเขตห้ามชุมนุมในระยะ 50 เมตรทันที
ขณะเดียวกันกลุ่มนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาจากหลายสาขา รวมถึงนักวิชาการอิสระจากหลายสาขากว่า 40 คน นำโดย นายภิญโญ มีชำนะ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา และเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าเทพา โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ โดยกลุ่มนักวิชาการฯ เห็นถึงความสำคัญของการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินและไม่เคยได้รับข้อมูลกรณีการบาดเจ็บหรือป่วยร้ายแรงหรือเสียชีวิตอันมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่ายหินของบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีพื้นที่ติดกับทะเล เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในพื้นที่กว่า 2,400 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี และไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ยังพบว่าในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศฝั่งตะวันตก ต่างมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่รวมกันหลายร้อยโครงการ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มฯ เห็นด้วย และเห็นว่าต่างต้องเคารพกฎหมาย โดยที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าเทพาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการอนุญาตก่อสร้างและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษประกาศใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน และขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ต้องกลับไปตั้งต้นศึกษาใหม่หากโรงไฟฟ้าเทพาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน จะมีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ในพื้นที่ภาคใต้ขั้นรุนแรง.-สำนักข่าวไทย