กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – คืนนี้ (3 ธ.ค.) จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือที่เรียกกันว่า ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) โดยดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 357,973 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงปกติ ประมาณ 6.3% สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลา 17.50 น. โดยประมาณ ทางทิศตะวันออกเป็นต้นไป
ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือดวงจันทร์เต็มดวงในตำแหน่งใกล้โลก ที่ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับช่วงปกตินั้น ดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร โดยเราให้คำกำจัดความของคำว่า Super Moon เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ระบุว่า ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
จากการเก็บข้อมูลของนักดาราศาสตร์พบว่า การเกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นทุกๆ ดวงจันทร์เต็มดวง 14 ครั้ง หรือประมาณ 411.8 วัน
ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุด” จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 2 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุด และครบรอบของการเกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน. -สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/12/1512282979645.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/12/1512282979644.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/12/1512282979648.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/12/1512282979671.jpg)