กรุงเทพฯ 3 ธ.ค.- นักวิชาการ ชี้ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. อาจได้ผู้แทนหน้าใหม่ ตามกติกาใหม่เข้ามา ไม่เกิน ร้อยละ5-10 ของผู้แทนในสภาฯ ระบุ การมีนักการเมืองที่ดีมีคุณภาพ ไม่ได้อยู่ที่กฎหมายกำหนดอย่างเดียว แต่อยู่ที่มิติทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย ไม่เช่นนั้นจะยังได้นักการเมืองแบบเดิมๆ
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะได้นักการเมืองที่ดีหรือมีคุณภาพอย่างไร ว่า การจะมีนักการเมืองที่ดีหรือมีคุณภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ควบคุม กำกับและวางกติกาในการเลือกตั้ง เพราะนอกจากในมิติทางกฎหมาย ก็ยังมีมิติด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น มิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ถ้าคาดหวังว่าจะได้ผู้แทนที่ดี ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง หรือไม่มีเรื่องธุรกิจการเมือง ก็ต้องไปพัฒนาปัจจัยแวดล้อมของการเลือกตั้ง เช่น การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเรื่องที่จะทำให้ประชาชนตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่การมีกฎหมายในครั้งนี้ ก็จะมีหลักการที่เปลี่ยนไป ในวิธีและระบบการเลือกตั้ง ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้ จะทำให้ได้ ส.ส.ที่เข้ามาเป็นส.ส.หน้าใหม่ แต่ตนเชื่อว่า ส.ส.ที่เข้ามานั่งในสภาฯ ส่วนใหญ่ จะเป็นส.ส.หน้าเดิม เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยนั้นยังไม่เปลี่ยน
“กฎหมาย ก็คือ กติกาที่จะกำหนดถึงวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ แต่ถ้าคะแนนนิยมของผู้คนในสังคม โครงสร้างทางสังคมวิทยา โครงสร้างทางเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับแบบเดิม เชื่อว่าผู้แทนหน้าเดิม ๆ ก็คงเข้ามาได้เป็นส่วนใหญ่เหมือนเดิม และเชื่อว่าจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด อาจจะได้ผู้แทนหน้าใหม่ตามกติกาใหม่เข้ามา เชื่อว่าจะไม่เกิน ร้อยละ5-10 ของผู้แทนในสภาฯ เท่านั้น” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนหน้าเดิมๆ หรือ หน้าใหม่ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า จะเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่จะทำให้นักการเมืองหน้าเก่าปรับตัว คือเรื่องของยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการเมืองมากกว่า ว่าจะปรับตัวอย่างไรให้สอดรับกับกติกาที่เปลี่ยนแปลงไป และในเชิงคุณภาพ คงใช้กฎหมายควบคุมกำกับได้ยาก เพราะกฎหมายกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้แทนได้ แต่ถ้าจะกำหนดให้คุณภาพอย่างไร คงกำหนดได้ยาก ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นในรัฐธรรมนูญฉบับปี2540 ที่กำหนดให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งต้องจบปริญญาตรี ทำให้เกิดเรื่องธุรกิจการศึกษาขึ้น มหาวิทยาลัยทุกแห่งเร่ขายปริญญา เพื่อให้คนไปลงสมัครส.ส.หรือผู้แทนท้องถิ่น
“การใช้กฎหมายกำหนดคงไม่ได้อะไรมาก สิ่งที่จะทำให้ได้ผู้แทนมีคุณภาพ คือต้องพัฒนาคุณภาพของพลเมือง เพราะผู้แทนมาจากพลเมือง ที่มีคนบอกว่า ส.ส.จะเป็นอย่างไร มาจากประชาชนที่เป็นอย่างนั้น ถ้าเราอยากได้ส.ส.ที่มีคุณภาพ เราต้องมีประชาชนที่มีคุณภาพ ทั้งในแง่การลงสมัคร ก็จะได้ผู้สมัครที่มีคุณภาพ ในแง่ผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ก็จะได้ผู้ไปใช้สิทธิ์ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการพัฒนาพลเมือง ในการสร้างความเข้มแข็งพลเมือง สำคัญกว่าการมีกติกาหรือกฎหมาย ที่ไม่อาจกำหนดคุณภาพได้” นายยุทธพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย