กรุงเทพฯ 29 ก.พ.- นักวิชาการ มอง เสถียรภาพรัฐบาลสูงขึ้นหลังสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง เชื่อ ปรับ ครม.ยังไม่เกิดขึ้นเร็วนี้ ชี้ปรับ ปชป.ออกจาก ครม.ยาก แนะเปิดพื้นที่ฟังความเห็นน.ศ. ป้องกันการเคลื่อนไหวที่จะเข้มข้นขึ้น
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเสร็จสิ้น เชื่อว่า การปรับ ครม.คงยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ แต่อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ เพราะในเดือนกรกฎาคมจะครบ 1 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งคงมีการทบทวนผลงานของรัฐมนตรีที่มีข้อสงสัยจากสังคม รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในพรรคร่วมรัฐบาล หลังจาก ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ 9 คนย้ายสังกัดไปพรรคภูมิใจไทย ทำให้โครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป เพราะพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. 61 คน ส่งผลให้เป็นพรรครัฐบาลลำดับที่ 2 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคอันดับ 3 ในทันที ซึ่งมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรคฝ่ายค้านจะส่งผลต่อโครงสร้างของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะมีแนวโน้มว่า พรรคเศรษฐกิจใหม่จะเข้าร่วมในรัฐบาลชุดนี้ ตลอดจนความแตกแยกของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มอนาคตใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีจุดแข็งในการต่อรองพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และพรรคฝ่ายค้าน หากคิดจะปรับพรรคประชาธิปัตย์ออกก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย
นายยุทธพร ยังกล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สะท้อนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลว่า ที่ผ่านมา เสียงปริ่มน้ำถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แต่หลังจากเกิดสถานการณ์หลายอย่าง พรรครัฐบาลล้วนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อม ตลอดจนการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภา และรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น หากรวมพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่สนับสนุนรัฐบาล และรวมกับ 9 ส.ส.ใหม่ที่ย้ายไปอยู่ภูมิใจไทย ทำให้รัฐบาลมีตัวเลขเกิน 270 เสียงแล้ว ก็ถือเป็นตัวเลขที่มีเสถียรภาพแล้ว ขณะที่การลงคะแนนในอภิปรายไม่ไว้วางใจที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้คะแนนเกิน 270 เสียง แม้ ร.อ.ธรรมนัส จะได้น้อยกว่า 270 เสียง แต่ก็น้อยกว่าเพียงเสียงเดียวเท่านั้น ดังนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลมีสูง และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในทางกลับกัน เสถียรภาพของฝ่ายค้านกลับเป็นปัญหาที่สังคมตั้งคำถามว่าจะสามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ คณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภาจึงไม่น่ากังวลสำหรับรัฐบาล แต่ที่น่ากังวลคือ การเมืองนอกสภา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีแนวโน้มขยายตัว
นายยุทธพร กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษา หรือ Flash mob ว่า อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้ การเกิดขึ้นของ Flash mob มีเฉพาะจุด แต่หากถึงจุดที่การเคลื่อนไหวเข้มข้นมากขึ้น ก็จะเกิดการตกผลึกร่วมกัน และมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนมากขึ้น ในวันนี้ระดับความเคลื่อนไหวยังอยู่แค่ประเด็นปัญหาที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในจุดหนึ่ง หากเชื่อมโยงมากขึ้น อาจนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ให้ยุบสภา ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้นแบบของการเคลื่อนไหวอาจจะไปได้หลายทิศทาง ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ ฮ่องกงโมเดล ที่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด ดังนั้น ขณะนี้ รัฐบาลต้องรีบออกมาแก้ปัญหาการเมืองในระบบ รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มที่เรียกร้องได้แสดงความเห็น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ร่วมกำหนดกติกาทางการเมือง .-สำนักข่าวไทย