รัฐสภา 30 พ.ย.-สนช.รับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 27 คนขึ้นมาพิจารณา หลัง “มีชัย” ยืนยันแบ่งกลุ่มอาชีพเพื่อความหลากหลายและพยายามหาวิธีเพื่อป้องกันการฮั้วตอนเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงบ่ายวันนี้ (30 พ.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ
โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ยกร่างตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนสำคัญสุด คือ การแบ่งกลุ่มคัดเลือกเป็น ส.ว. และวิธีการคัดเลือก ซึ่ง กรธ.ได้ออกแบบมาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องการให้ประชาชนทุกอาชีพ ทุกคุณลักษณะทั่วประเทศมีส่วนในการใช้สิทธิทางการเมืองโดยทั่วหน้า จึงแบ่งกลุ่มตามลักษณะต่าง ๆ และมีกลุ่มอื่น ๆ ไว้ ในกรณีที่อาจจะไม่เข้าคุณลักษณะกลุ่มที่กำหนดไว้ ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกลงสมัครได้หลายที่ หากเกิด เคยศึกษา หรือเคยทำงานในสถานที่นั้น สำหรับวิธีการเลือก ส.ว.นั้น ได้พยายามคิดวิธีการเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการฮั้วกันได้ จึงใช้ทั้งวิธีจับสลากแบ่งสาย วิธีเลือกโดยจำกัดจำนวน เลือกไขว้กัน แต่ กรธ.ไม่ขัดข้องหากจะมีการเสนอวิธีอื่นที่ดีกว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่า 5 ปีแรกให้มี ส.ว.สรรหา 250 คนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งกรรมการสรรหาคัดมา 194 คน /เป็นโดยตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม 6 คน และคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพที่เลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มา 50 คนจาก 200 คน เมื่อพ้น 5 ปี จึงค่อยกลับมาให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเองตามขั้นตอนเดิมและลดจำนวนลงเหลือ 200 คน ทั้งนี้ได้มีการกำหนดรายละเอียดและขั้นตอนในการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ในการป้องกันการสมยอมหรือฮั้วไว้อย่างแน่นหนา ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ทั้งใช้วิธีจับสลากแบ่งสายและเลือกข้ามกลุ่ม เพื่อให้ได้ตัวแทนที่แท้จริง บทบาทหน้าที่ ส.ว. คือ เร่งรัดติดตามการทำงานของรัฐในการปฏิรูปประเทศ ให้รัฐบาลรายงานการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือน ตลอดจนดูแลการบริหาราชการแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.ให้เข้มถึงขั้นห้ามเป็นบุพการี สามี ภรรยา และบุตรกับฝ่ายการเมือง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หากคนใกล้ชิดเหล่านี้ได้รับเลือกตั้ง จะมีผลให้คนที่เป็น ส.ว.ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
ทั้งนี้ สนช.ส่วนใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ของ กรธ.ว่าจะสามารถป้องกันการฮั้วหรือทุจริตได้จริงหรือไม่ และยังไม่แน่ใจว่าวิธีการของ กรธ.จะดีกว่าการเลือกตั้งตรงของประชาชนอย่างไร ขณะที่บางส่วนเห็นว่าการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อบัญญัติหลายเรื่องเขียนผูกโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.จำนวน 200 คนที่มาจากการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนส่งให้ คสช.คัดเลือกเหลือเพียง 50 คน ว่า อาจเกิดการบล็อกโหวตจากฝ่ายการเมืองที่ยอมเสียเงินจ้างคนของตัวเองเข้าไปตัดตอนตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ และแม้ว่าท้ายที่สุด คสช.จะคัดเลือกให้เหลือ 50 คน แต่ก็เป็น 50 คนใน 200 คนที่ส่งมาจากฝ่ายการเมืองอยู่ดี จึงเหมือนปรากฏการณ์ ยอมเสียเงิน 5,000 ล้านบาท ซื้อประเทศไทยทั้งประเทศ พร้อมยืนยันจะพยายามหาวิธีการแปรญัตติเพื่อป้องกันการบล็อกโหวตให้ได้
ด้านนายมีชัย ยอมรับว่า ปัญหาการบล็อคโหวตยังเป็นข้อกังวลใจ แต่จำเป็นต้องเดินหน้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งวิธีการของ กรธ.จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคนไทยได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าเป็นไปตามข้อสังเกตของนายสมชาย แสดงว่าคนไทยซื้อได้ทั้งประเทศ ดังนั้นไม่ว่าระบบอะไรก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ด้วยคะแนน 177 ต่อ 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 27 คน โดยมีกรอบเวลาทำงาน 58 วัน และแปรญัตติภายใน 15 วัน.-สำนักข่าวไทย
