ดีเอสไอ 29 พ.ย.-สมาชิกสหกรณ์คลองจั่น ทวงถามทรัพย์ 3,800 ล้านบาทจากดีเอสไอ หลัง ปปง.ระบุให้คืนสหกรณ์
นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์เครดิตอยู่เนี่ยนคลองจั่น พร้อมด้วยตัวแทนสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่นประมาณ 40 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณีที่ดีเอสไปอายัดทรัพย์สินสหกรณ์ฯกว่า 3,800 ล้านบาท โดยอ้างว่าอาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โดยล่าสุดล่าสุด ปปง.มีหนังสือตอบกลับมาลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 แจ้งว่า สหกรณ์ฯสามารถดำเนินการตามสิทธิ์ตามกฎหมายอื่นได้ ไม่ต้องรอใช้กฎหมายฟอกเงิน แต่ดีเอสไอ ยังคงอายัดไว้ สหกรณ์ฯจึงเดินทางมาเพื่อขอทราบความคิดเห็น และการดำเนินการปล่อยทรัพย์ให้เร็วที่สุด
นายเผด็จ กล่าวว่า หลังจากที่ ปปง.มีหนังสือแจ้งกลับมาว่ามีมติไม่ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 299 รายการ และขอให้สหกรณ์ฯนำทรัพย์สินไปดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกได้ ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ฯเริ่มดีขึ้น ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นมีทั้งหมดประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยมีสมาชิกที่เสียหายถูกโกงเงินไปประมาณ 18,000 คน จากสมาชิกทั้งหมด 50,000 คน ตอนนี้สหกรณ์หาเงินมาทยอยจ่ายเงินให้สมาชิกได้แล้วประมาณ ร้อยละ 11 คิดเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท หากดีเอสไอคืนเงินส่วนนี้มาให้สหกรณ์ฯก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกหลายพันราย ประกอบกับตอนนี้ทางกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ รวมทั้งรัฐบาลก็ยื่นมือมาจะช่วยเหลือ จึงอยากให้ดีเอสไอคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย
“เข้าใจว่าที่ต้องพิจารณาเพราะเรื่องนี้มันมีทั้งส่วนของคดีแพ่ง และอาญา ในส่วนที่เป็นคดีเเพ่ง ปปง.ก็ชีชัดแล้วให้คืนให้สหกรณ์ หากดีเอสไอจะอายัดไว้จนสิ้นสุดกระบวนการคดีอาญา คงต้องใช้เวลารออีกอย่างน้อย 7-8 ปี แบบนี้สมาชิกก็คงแย่ บางคนคงเสียชีวิตไปแล้ว” นายเผด็จ กล่าว
ด้าน พ.ต.ต.วรณัณ ศรีล้ำ รองโฆษก ดีเอสไอ เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากสมาชิกสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ทันที ต้องมีการประชุมคณะกรรมการทำงานในคดีว่า เหตุใด ปปง.มีคำตอบกลับมาเช่นนี้ มีข้อกฎหมายใดเกี่ยวข้องบ้าง โดยจะนัดประชุมหารือไนวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เนื่องจากคดีนี้ดีเอสไอทำงานพิจารณาคดีร่วมกับอัยการ จึงจะได้เชิญทั้ง ปปง. อัยการกรมบังคับคดี และดีเอสไอ มาร่วมหารือกัน ยืนยันเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน แต่คดีมีมูลค่าความเสียหายสูง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วน นางกนกลดา เจริญศิริ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบว่าทรัพย์สินทั้งหมดนั้นเป็นทรัพย์สินในคดีอาญาและคดีแพ่งจำนวนเท่าไหร่ หากจะต้องคืนให้กับสมาชิก หากเป็นทรัพย์สินทางอาญาจะต้องให้คดีความถึงที่สิ้นสุดและมีการสั่งขายทอดตลาดจากศาล แต่หากเป็นคดีความทางแพ่งก็จะต้องประชุมว่าจะสามารถคืนให้สมาชิกทางใดบ้าง อย่างไรก็ตามจะต้องรอผลการประชุม 4 ฝ่าย ในวันทีา 13 ธันวาคม ว่าผลการประชุมจะให้ดำเนินการอย่างไร.- สำนักข่าวไทย