สำนักข่าวไทย 24 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช รพ.จุฬาฯตอบรับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมเป็นคณะกรรมการชันสูตร ‘เมย’ รอบสอง
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ร่วมเป็น 1 ในผู้ทรงคุณวุฒิในการชันสูตรนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร ที่เสียชีวิต ซึ่งกระบวนการทำงานจากนี้จะเน้นเรื่องการไขข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของน้องเมยเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้ครอบครัวผู้เสียชีวิตและสังคมมีความหวาดระแวง โดยจะต้องทำงานแบบองค์คณะ เพื่อความโปร่งใส่ พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งด้าน พยาธิวิทยาในอนุสาขาต่างๆให้คำปรึกษา วินิจฉัยข้อมูลการชันสูตรในครั้งนี้ด้วย โดยทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ได้วางกรอบการทำงานในการชันสูตรซ้ำ ในรอบ 2
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาของกระบวนการชันสูตรศพ ในไทยนั้น ต้องยอมรับว่าแต่ละที่มีมาตรฐานแตกต่างกันแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็ไม่สามารถทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ มีเพียงสิงคโปร์ ที่ทั้งประเทศ การชันสูตรได้มาตรฐานเดียวกันหมด เนื่องจากทำในสถานที่เดียว อีกทั้งประชากรไม่มาก แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีความเชื่อ สิ่งที่ได้จากหลักฐาน เอาความถูกต้องเป็นหลัก มากกว่าความถูกใจ และที่สำคัญคือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับญาติ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหาจากการเสียชีวิตที่เป็นข้อกังวลสงสัย ได้รับคำตอบที่แท้จริง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์หลังการนำอวัยวะจาก รพ.พระมงกุฎเกล้ามาส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใน รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วานนี้ (23 พ.ย.) ว่าขั้นตอนแรกได้ตรวจแล้วว่าอวัยวะที่ส่งมามีอะไรบ้างพบว่ามีหัวใจ สมอง ตับ ม้าม กระเพาะ ปอดและอีกหลายอย่างให้แพทย์ตรวจสภาพอวัยวะว่าสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ ,ขั้นตอนที่ 2 ตรวจชิ้นเนื้อบางส่วนของอวัยวะว่าดีเอ็นเอตรงกับน้องเมยหรือไม่ และขั้นตอนที่ 3 จัด ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ซึ่งเบื้องต้นมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจอวัยวะ 3 คนและเพื่อความมั่นใจและถูกต้อง มีการเพิ่มทีมแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญภายนอก ด้านพยาธิสมอง พยาธิหัวใจและทางด้านนิติเวช มาช่วยด้วยรวม 3 สถาบัน ได้แก่รพ.รามาธิบดี, รพ.ศิริราช และรพ.จุฬาลงกรณ์ รวมแล้วมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหมด 6 คน ร่วมกันตรวจชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต
หลังจากนี้จะติดต่อผู้เชี่ยวชาญจากนั้นจะเริ่มดำเนินการทันทีตามมาตรฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะชันสูตรและหาสาเหตุการเสียชีวิต ใช้เวลาภายใน 7 วัน ซึ่งญาติบอกว่าไม่รีบร้อน แต่ต้องการทราบสาเหตุที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุด คาดว่าภายในระยะเวลา 7 วันจะรายงานผลให้กับร้อยเวรและญาติ .-สำนักข่าวไทย