กสม.พร้อมตรวจสอบกรณี “น้องเมย”หากญาติร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม ชี้เป็นสิทธิญาติจะขอผ่าพิสูจน์ศพกี่รอบก็ได้ หากยังข้องใจสาเหตุการตาย พร้อมชี้ธำรงวินัยทหาร เข้าข่ายทรมาน ขัดหลักอนุสัญญาที่ไทยเป็นสมาชิก
นางอังคณา ลีนะไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการเสียชีวิตของ นตท. ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย ว่า รู้สึกตกใจและแปลกใจกับการที่แพทย์ออกมาระบุ ในทำนองว่าสามารถเอาอวัยวะภายในของน้องเมยออกไปได้ตรวจได้ โดยไม่บอกญาติให้ทราบชัดเจนก่อน ซึ่งต้องทำเป็นเอกสารให้เซ็นยินยอม เพราะการเสียชีวิตผิดธรรมชาติที่จะต้องมีการชันสูตร และหากญาติยังมีความข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ก็เป็นสิทธิที่จะผ่าศพพิสูจน์อีกกี่ครั้งก็ได้ เหมือนกับกรณีของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่ก็มีการผ่าพิสูจน์หลายครั้ง และต้องสรุปชัดเจนก่อนว่าน้องเมย ตายเพราะอะไร หากเสียชีวิตเพราะถูกบังคับให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนร่างกายรับไม่ไหว ก็ต้องถือว่าเสียชีวิตโดยการที่มีคน ซึ่งมีอำนาจบังคับให้ต้องทำแบบนั้น คนที่มีอำนาจคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามในส่วนของญาติผู้เสียหาย หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ กสม.พร้อมจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง
“จะตรวจสอบได้ว่ามีการละเมิดหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความจริงได้ง่าย เพราะผู้ที่เห็นเหตุการณ์ คือนักเรียนนายร้อยด้วยกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าจะพูดหรือไม่ เพราะก็อาจจะอ้างเรื่องวินัย พูดไม่ได้ เป็นความลับราชการ ก็ยากจะหาหลักฐาน นอกจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ น่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็อาจจะฟันธงไม่ได้ชัด ถ้าพยานที่เห็นเหตุการณ์ไม่พูดจริงๆ เรื่องนี้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ระดับสูงคิดว่า เป็นเรื่องที่ควรจะเยียวยาครอบครัวเขา ก็ควรบอกความจริงกับเขาดีกว่า” นางอังคณากล่าว
ส่วนที่ทหารอ้างว่าเรื่องธำรงวินัย เป็นเรื่องปกติที่จะฝึกวินัย ความอดทนของนักเรียนใหม่ นางอังคณา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทรมานแล้วทั้งปี 50 และปี 52 ประเทศก็มีภาระผูกพันที่ต้องทำตามอนุสัญญานี้ และอนุสัญญาต่อต้านทรมานของสหประชาติก็ระบุไว้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด รวมถึงสภาวะสงคราม การทรมานไม่สามารถเอามาใช้เป็นเหตุผลที่จะกระทำกับบุคคลอย่างไรก็ไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีร่างกฎหมายทรมานสูญหาย ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการแก้ไขของกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้นำกลับไปปรับปรุงเนื้อหา ซึ่งตามร่างกฎหมายนี้ การทรมานจะกระทำไม่ได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ และการทรมานตามนิยามไม่ได้หมายถึงการทรมานด้านร่างกายอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการทรมานด้านจิตใจ การบังคับขู่เข็ญด้วย ฉะนั้นการธำรงวินัย เช่น การชกท้อง หรือบังคับให้ทำอะไรหนักๆ เกินกว่าร่างกายจะรับไหว มันก็เข้าข่ายเป็นการทรมานเช่นกัน
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า การจะทำให้คนรู้รักษาวินัย มีวิธีการการอื่นๆอีกมากมาย และประเพณีวัฒนธรรมอะไรที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ควรจะปรับปรุง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน หากรัฐบาลจะประกาศเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ควรจะปฏิรูประบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก.
สำนักข่าวไทย