22 พ.ย.-แม้ว่าผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร ยืนยันว่าการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารภคพงษ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย ไม่ได้เกิดจากการธำรงวินัย แต่ยอมรับว่าน้อยเมยเคยถูกลงโทษเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ถึงขั้นหมดสติ ชีพจรต่ำ หลายคนเลยตั้งคำถามว่า “ธำรงวินัย” คืออะไร และสามารถทำได้แค่ไหน ติดตามจากรายงาน
“การธำรงวินัย” เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงทหาร แต่ภาษาชาวบ้านก็คือ การซ่อม หรือการลงโทษ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม ไม่อยู่ระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของชายในเครื่องแบบที่ถืออาวุธก็คือวินัย
อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่หลายคนให้ข้อมูลสำนักข่าวไทยว่า นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ทุกคน จะผ่านการธำรงวินัย หรือซ่อม ไม่มีใครไม่โดน เพราะการแปรสภาพจากพลเรือน ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป มาเป็นนักเรียนเตรียมทหารที่อยู่ในระเบียบวินัยตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องง่าย รูปแบบการซ่อมส่วนใหญ่จะเป็นการให้ออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ยึดพื้น ลุกนั่ง
เมื่อตรวจสอบในหนังสือคู่มือนักเรียนเตรียมทหาร พบว่ามีการกำหนดท่าลงโทษ หรือการธำรงวินัย ในความผิดสถานเบา ไว้อย่างชัดเจน เช่น ยึดพื้นไม่เกิน 50 ครั้ง งอเขาครึ่งนั่งไม่เกิน 50 ครั้ง พุ่งหลังไม่เกิน 50 ครั้ง และวิ่งไม่เกิน 1,500 เมตร ที่สำคัญคือ ห้ามถูกต้องตัว และห้ามใช้ท่าที่นอกเหนือจากระเบียบอย่างเด็ดขาด แต่ก็เคยมีรุ่นพี่บางคนคึกคะนอง ใช้วิธีนอกกรอบ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่นักเรียนเตรียมทหทารกรัณฑ์ อรชร อายุ 16 ปี ชั้นปีที่ 2 ถูกรุ่นพี่ที่เป็นนายทหารปกครอง ชั้นปีที่ 3 จำนวน 6 คน ลงโทษในความผิดแอบนอนหลับขณะเข้าเวรยาม ด้วยการบังคับให้ดื่มน้ำแล้วออกกำลังกายต่อเนื่อง จนทำให้เสียชีวิต
เมื่อย้อนไปดูพระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 พบว่ามีผลบังคับใช้กับทหารในราชการและนักเรียนเตรียมทหารเช่นกัน โดยมีการยกตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารไว้ 9 ประการ เช่น ขัดขืน หลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา, ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ ผู้น้อย, เกียจคร้าน เลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ, ใช้กิริยา วาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร รวมถึงการไม่ตักเตือน สั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิด
ส่วนการลงทัณฑ์ หรือลงโทษตามกฎหมาย มีเพียง 5 รูปแบบ ประกอบด้วย ภาคทัณฑ์ หมายถึง การทำทัณฑ์บน ห้ามทำผิดซ้ำ, ทัณฑกรรม เช่น ให้ไปก่อสร้าง ขัดห้องน้ำ ตัดหญ้า กัก ห้ามออกนอกพื้นที่ที่กำหนด ขัง ควบคุมให้อยู่ในห้องคนเดียว หรือเป็นหมู่คณะก็ได้ ส่วนโทษหนักสุด คือ จำขัง นั่นคือการถูกสั่งตัวเข้าเรือนจำทหาร แต่ไม่ว่าจะมีกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติในการลงโทษผู้ทำผิดไว้อย่างไร ก็มักมีคนแหกกฎเสมอ หลายครั้งจึงนำมาสู่ความสูญเสีย.-สำนักข่าวไทย