สพฐ.21 พ.ย.-สพฐ.ชี้เเจงยุติโครงการโรงเรียนไอซียู ย้ำ 1 ปีโรงเรียนพ้นภาวะวิกฤติเเล้ว พร้อมตั้งงบปี62 ช่วยเหลือเร่งด่วน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีการยุติโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนหรือโรงเรียนไอซียู (ICU) ว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ.2559 เพื่อเเก้ปัญหาโรงเรียนที่อยู่ในสภาวะวิกฤติ ทั้งอาคารเรียนทรุดโทรม ขาดครูเเละสื่อการสอน ซึ่งมีโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 5,032 โรงเรียน เเบ่งเป็นระดับชั้นประถมศึกษา 4,666 เเห่งเเละมัธยมศึกษา 366 เเห่ง โดยจำเเนกโรงเรียนตามความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มฉุกเฉิน 2,253 เเห่ง กลุ่มเร่งด่วน 1,923 เเห่ง และกลุ่มไม่ฉุกเฉิน 856 เเห่ง
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ตลอดการดำเนิน 1 ปี ได้ช่วยเหลือด้านกายภาพเเละบุคลากร ซ่อมเเซมอาคารเรียน ขยายระบบไฟฟ้าเเละจ้างครูอัตราจ้างไปสอนในโรงเรียนที่ขาดเเคลน 466 คนใน 427 โรงเรียน โดยใช้งบประมาณของ สพฐ.เเละงบฯจากภาคเอกชนรวม 446 ล้านบาท ช่วยเหลือโรงเรียนไปแล้ว 1,964 เเห่ง อีกทั้งในปีงบประมาณปี พ.ศ.2561 ได้มีการเบิกงบประมาณช่วยเหลือโรงเรียนอีก 440 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้พบว่าโรงเรียนในสังกัดไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เเละระบบงบประมาณก็จะไปอยู่ในหลักเกณฑ์ปกติ ที่สพฐ.จะช่วยเหลือที่จะเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระยะยาว จึงเห็นว่าโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นเเล้ว โดยเรื่องนี้นพ.ธีระเกียรติทราบเเล้ว เพราะเข้าใจว่าเเต่ละโครงการต้องมีการสิ้นสุด พร้อมย้ำให้ช่วยเหลือโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
นายบุญรักษ์ กล่าวด้วยว่า การสิ้นสุดโครงการไม่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ หลังจากนี้ สพฐ.เตรียมเสนองบประมาณปีพ.ศ.2562 เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนหากต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป เเละอาจพิจารณาช่วยเหลือโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการดูเเลในโครงการไอซียู ซึ่งอาจมีเพียงกว่า 400 เเห่งจาก 5,032 เเห่ง เป็นอันดับต้นๆ โดยโรงเรียน400 เเห่งนั้นเดิมอยู่ในกลุ่มไม่ฉุกเฉิน จึงอาจได้รับการช่วยเหลือน้อย เพราะปัญหาอาจไม่เยอะเท่าสองกลุ่มเเรกเเละไม่ได้อยู่ในสภาพวิกฤติ
ส่วนที่มีครูเเละโรงเรียนที่อยู่ในโครงการออกมาวิจารณ์ว่ายังไม่ได้การช่วยเหลือนั้น อาจมีการอนุมัติงบประมาณเเล้วเเต่ยังไปไม่ถึง ซึ่งครูต้องติดตามผลด้วย ขณะเดียวกันกระเเสการวิจารณ์ว่าสพฐ.มีโครงการจำนวนมากจนครูไม่มีเวลาทุ่มเทการสอนให้เด็กนั้น ขอทำความเข้าใจว่าหลายโครงการได้เสร็จสิ้นไปเเล้ว ส่วนบางโครงการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงเรียน หากเห็นว่ามีประโยชน์เเละเหมาะกับโรงเรียนก็สามารถดำเนินการต่อได้ .-สำนักข่าวไทย