สำนักงานป.ป.ช. นนทบุรี 21 พ.ย.-กก.ปฏิรูปประเทศด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ จัดรับฟังความเห็นประชาชนครั้งสุดท้าย ก่อนยกร่างแผนให้เสร็จสิ้นเดือนนี้ ชี้ประชาชนพอจได้มีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายต้านทุจริต
คณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการฯ จัดสัมมนารับฟังความเห็นการจัดทำแผนปฏิรูประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด ที่สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี โดยมีตัวแทนภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ นักการเมือง องค์กรตรวจสอบและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 300 คน
นายปานเทพ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องร่วมกันแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทย ที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การแก้ปัญหาจะต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและกลไกลสำคัญในการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันการทุจริต รวมทั้งยังเป็นการยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการเฝ้าระวังแจ้งเบาะแสการทุจริต อย่างไรก็ตาม ผลจากการรับฟังความเห็นทั้งหมดนี้ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันการทุจริตให้แล้วเสร็จ ตามกรอบเวลาการจัดทำแผนในต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรี(ครม.)
“สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาจากการศึกษาของคณะกรรมการฯ วางแนวทางไว้ 4 ประการ คือ เริ่มจากป้องกันและเฝ้าระวังที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน / การป้องกันและปราบปรามโดยใช้กลไกลภาครัฐและการมีส่วนร่วม การบังคับใช้กฎหมายในการปราบปราม และการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตให้สามารถนำคคีต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า การรับฟังความเห็นวันนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลังจากรับฟังความเห็นภาคอื่น ๆ แล้ว โดยจะรวมรวบและประเมินข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของประชาชนมาจัดทำแนวทางปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจะยกร่างแผนปฏิรูปภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจากการรับฟังความเห็นที่ผ่านมา ประชาชนให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นเครือข่ายในการให้ข้อมูลการทุจริตกับเจ้าหน้าที่ แต่ต้องการความมั่นใจเรื่องการคุ้มครองและขอให้เปิดเผยข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ
“การปฏิรูปครั้งนี้จะต้องบูรณาการการตรวจสอบขององค์กรต่าง ๆ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม(ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันเห็นว่าควรต้องปรับปรุงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยต้องการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ค่าปรับต่าง ๆ” นายปานเทพ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
