กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – พาณิชย์เร่งเสริมความรู้ผู้ประกอบการ แนะเส้นทางการค้า และนโยบายลงทุนของอินเดีย คาดปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างกันเกิน 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวในการสัมมนาการค้าต่างประเทศ ซีรีส์ 4 “มองอินเดียใหม่..ความท้าทายและโอกาสที่คาดไม่ถึง” จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน เนื่องจากอินเดียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7-8 ต่อเนื่องมาหลายปี และยังมีแนวโน้มที่ดี หากเทียบกับจีนที่เศรษฐกิจเริ่มทรงตัว ถือว่าเป็นโอกาสของการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่นิยมในอินเดีย ประกอบกับมีความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อินเดีย และกรอบเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ทำให้การค้าของไทยเกินดุลการค้ากับอินเดียตลอด โดยมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีนี้คาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะเกิน 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 แต่ผู้ประกอบการไทยยังมีทัศนะคติและไม่มีความเชื่อมั่นที่จะทำการค้ากับอินเดีย ทำให้การบุกตลาดอินเดียยังคงจำกัดเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และรายเดิมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอินเดียเปิดตัวนโยบายใหม่เชิญชวนบริษัททั่วโลกเข้าไปสร้างฐานการผลิตสินค้าในประเทศอินเดียด้วยแคมเปญ “Make in India” เน้นให้ความสำคัญกับการจ้างงาน และการพัฒนาทักษะแรงงานอุตสาหกรรม 25 ประเภท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี ไอที และการแปรรูปอาหาร หากเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าเพื่อขายในตลาดอินเดียแล้วยังสามารถต่อยอดธุรกิจส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ทั้งบังกลาเทศและปากีสถาน ซึ่งมีสิทธิพิเศษการส่งออกยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน หรือภาษีร้อยละ 0 จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะพิจารณาเข้าไปลงทุนด้วย
นายสุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นฐานทางการศึกษาที่ดีของประเทศจะมีส่วนสำคัญทำให้มีการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและต้องใช้ทัศนะคติทางบวก เพราะโอกาสที่มีอยู่มากในตลาดอินเดีย แต่ยังมีผู้ประกอบการและนักลงทุนจำกัดเฉพาะรายใหญ่ และอุตสาหกรรมเดิม ๆ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ธุรกิจค้าปลีกเป็นตลาดใหญ่มาก และประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก แต่ต้องศึกษาวัฒนธรรมให้ดี.-สำนักข่าวไทย