กฟผ.15 ต.ค. – กฟผ.เผยกระทรวงพลังงานประเมิน หากโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างไม่ได้ทั้งหมด ตามแผนพีดีพี 2015 อาจต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มปลายแผนปี 2579 จาก 24 ล้านตันเป็น 33 ล้านตัน กระทบค่าไฟฟ้า พร้อมเดินหน้า ศึกษา Coal Center
ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน ของกฟผ. กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 2558-2579 (PDP2015) โดยจะมีการกระจายเชื้อเพลิง ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งตามแผน จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 6 แห่ง กำลังผลิตรวม 5,800 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังมีผู้คัดค้าน ซึ่งหากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การผลิตไฟฟ้าก็อาจจะยังต้องพึ่งพาก๊าซฯเป็นหลักอยู่ต่อไป ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทย และก๊าซฯจากเมียนมาร์ก็ลดน้อยลงในทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทนมากขึ้น
“ตามแผน PDP2015 จะต้องนำเข้า LNG กว่า 24 ล้านตัน/ปี วงเงิน 4 แสนล้านบาท/ปี ในช่วงสิ้นสุดแผนปี 79แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดขึ้นเลยกระทรวงพลังงานคาด ก็อาจจะต้องนำเข้า LNG สูงสุดราว 33 ล้านตัน/ปี โดย LNG มีราคาสูงกว่าถ่านหิน ก็อาจทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย จากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจนถึงสิ้นสุดแผน PDP2015 อยู่ที่กว่า 4 บาท/หน่วย”นายกิจจา กล่าว
นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เกิดขึ้นได้ตาม แผนพีดีพี คาดว่าจะมีความต้องการใช้ถ่านหินนำเข้าราว 20 ล้านตัน/ปี โดยระยะแรกต้องนำเข้าถ่านหินราว 10 ล้านตัน/ปีสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 64-67 และแต่ละโรงก็จะมีข้อตกลงเรื่องการนำเข้าถ่านหินจากแหล่งที่แตกต่างกัน ดังนั้น กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาตั้งศูนย์นำเข้าและกระจายถ่านหิน (Coal Center) เพื่อรองรับความต้องการนี้ โดยเมื่อนำเข้ามายังศูนย์นี้แล้ว กฟผ.จะทำหน้าที่ผสมถ่านหินแล้วก็จัดส่งออกไปตามโรงไฟฟ้าต่าง ๆ
นายถาวร กล่าวว่า ทาง กฟผ.ยังเชื่อมั้นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์จะก่อสร้างได้ แม้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี และทำให้เกิดความล่าช้าจากแผนแล้ว 2 ปีจากเดิมสร้างเสร็จเข้าระบบปี 2562 ก็เลื่อนเป็นปลายปี 2564 แล้วก็ตาม ในขณะที่ โรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบต่อไปคือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในจ.สงขลา ซึ่งจะมี 2 ระยะ โดยระยะแรก ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ากลางปี 64 และระยะที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปี 67 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่
สำหรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 6 แห่งจะทำให้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีความสมดุลมากขึ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ในแผน PDP2015 ที่จะลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า เหลือราว 37% จากปัจจุบัน 70% และสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 23% จากปัจจุบัน 18-19% ส่วนที่เหลือเป็นการใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน,การซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และต่างประเทศ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ เป็นต้น –สำนักข่าวไทย