กรุงเทพฯ 17 พ.ย.- ศาลแจงขั้นตอนรื้อคดีอาญานักการเมืองสามารถไต่สวนลับหลังได้ ขณะที่ วิ.อม.ใหม่ จัดหนักอดีตนักการเมืองที่หนีคดี เจอทั้งโทษหนักและโทษหนีคดี คุก 6 เดือน
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำนักงานศาลยุติธรรม จัดสัมมนาความรู้ทางกฏหมายและระบบการพิจารณาพิพากษาคดี ของศาลยุติธรรมแก่สื่อมวลชน (สศย.) รุ่นที่ 1 มี นายทรงเดช บุญธรรม ผู้ช่วยเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ให้ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นคำร้องขอไต่สวนคดีลับหลังจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่จำเลยในคดีหลบหนี ว่า ตามขั้นตอนหากอัยการสูงสุด หรือ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ในคดียื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีที่จำเลยหลบหนีมาพิจารณาลับหลังจำเลยตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (วิ.อม.) มาตรา 28 ที่ระบุว่ากรณีที่ศาลประทับรับฟ้อง ในคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นจำเลยไม่มาศาลและศาลได้ออกหมายจับจำเลยแล้ว แต่ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาได้ภายในเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะแต่งตั้งทนายความมาดำเนินการแทนได้
โดยเมื่อรับคำร้องแล้ว ศาลจะต้องตรวจดูว่าสำนวนเดิมที่ฟ้องไว้นั้น องค์คณะผู้พิพากทั้ง 9 คน ยังดำรงตำแหน่งครบหรือไม่ หากมีท่านใดพ้นจากองค์คณะก็จะต้องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษามาเป็นองค์คณะทดแทนให้ครบทั้ง 9 คน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคำร้องโดยการพิจารณาคำร้องดังกล่าว รวมทั้งการประชุมองค์คณะตาม วิ.อม.ใหม่ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนไว้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่
เมื่อถามถึงคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยรับฟ้อง และจำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยหลบหนีระหว่างการพิจารณา ที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องไว้ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนนี้เลยหรือไม่ นายทรงเดช ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ ซึ่งการปฎิบัติก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว หากมีการยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนลับหลังจำเลยก็สามารถแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการแทนตัวจำเลยได้
นายทรงเดช ยังได้มีการบรรยายถึง วิ อม. ใหม่ ในมาตรา 32 ที่มีการกำหนดโทษจำเลยที่หลบหนีระหว่างการพิจารณาคดีไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นหากมีติดตามจำเลยมาได้ นอกจากจะต้องรับโทษในคดีหลักตามคำพิพากษาแล้ว ยังจะต้องรับโทษฐานหลบหนี แยกออกมาเป็นอีกหนึ่งคดี ซึ่งพนักงานอัยการ หรือ ป.ป.ช. อาจจะตั้งเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งก็ได้
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คดีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายความตามมาตรา 32 นี้ด้วยหรือไม่ นายทรงเดช ได้ระบุสั้นๆเพียงว่า ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
นอกจากนี้ภายในงานสัมมนาฯ ยังมีการให้ความรู้และเตือนสื่อมวลชน ในการนำภาพหมายจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไปเผยแพร่ ว่าอาจกระทบต่อตัวผู้ต้องหา หรือ จำเลย ในคดีนั้น ๆ เนื่องจากหมายจับ จะเผยแพร่ได้ จากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ใช่การนำหมายจับ ที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ มาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ผู้ได้รับความเสียหาย อาจยื่นฟ้องผู้เผยแพร่ กรณีได้รับความเสียหายและการเผยแพร่นั้นๆ อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลด้วย- สำนักข่าวไทย

