ทำเนียบฯ 16 พ.ย.-รองนายกรัฐมนตรี ระบุ แก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ทันภายในปีนี้ เพราะอยู่ระหว่างสำรวจความเห็น เตรียมออกบัญชีแบล็คลิสต์ อปท.เกี่ยวข้องทุจริต ก่อนการเลือกตั้ง ชี้อาจมีการเลือกตั้ง อบต.ช้าสุด เพราะติดปัญหาโครงสร้าง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี ว่า มีความชัดเจนเรื่องการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญใหม่รวม 6 ฉบับ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ปี 2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 2.พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 ฉบับ ประกอบด้วย อบต. เทศบาล อบจ. กทม. และเมืองพัทยาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 252 ซึ่งจะต้องกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 184-185 โดยเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ เช่น ต้องไม่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ หรือ ถือหุ้นในบริษัทเอกชน เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้เขียนไว้ ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะกรรมกฤษฎีกาได้ยกร่างกฎหมายทั้งหมดเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เห็นความเห็นชอบต่อไป
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงกระบวนการแรก จากทั้งหมด 3 ขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนจะสามารถเลือกตั้งประเภทใดได้ก่อน และช่วงเวลาใด ต้องรอนับหนึ่งเมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ซึ่งเท่าที่พูดคุยตารางเวลาในที่ประชุม เชื่อว่าคงไม่ทันภายในปีนี้ เพราะต้องใช้เวลารับฟังความเห็นในการแก้กฎหมายในช่วง 1 เดือนที่เหลือ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้หยิบยกข้อกังวลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ใน 3 เรื่องมาหารือ คือ 1.ไม่ให้กระทบปฏิรูปโครงสร้างใหม่ ดังนั้น อบต.คงจะต้องเลือกตั้งช้าที่สุด เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องการปฏิรูป 2.อปท.ที่ติดบัญชีเข้าข่ายทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ ซึ่งต้องทำเป็นบัญชีชี้แจงประชาชนเพื่อความโปร่งใส และ 3.การปลดล็อคพรรคการเมือง ซึ่งยังมีระยะเวลาดำเนินการอยู่
ส่วนอำนาจหน้าที่ของการจัดการเลือกตั้ง ที่มีข้อกังวลในมาตรา 27 นั้น รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ชัดแย้ง และไม่ต้องสงสัย เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.ให้สามารถจัด หรือดำเนินการได้ ซึ่งคำว่าดำเนินการ สามารถมอบหมาย อปท.ไปจัดการเลือกตั้งในพื้นที่เองก็ได้ หรือ กกต.จัดเองก็ได้ เพราะกฎหมายอนุญาต
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการสำรวจสมาชิกของพรรคการเมือง ว่า ขณะนี้สามารถทำได้ เพราะคำสั่ง คสช.และประกาศ คสช.ไม่ได้ห้ามเรื่องนี้ การที่กรรมการบริหารพรรคมีการพบปะพูดคุยกันแทบทุกวัน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งคำสั่งที่ห้ามรวมตัวกัน 5 คนเพื่อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ก็มีช่องทางที่จะทำไม่ให้เป็นการชุมนุมทางการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองสามารถสำรวจสมาชิกพรรคการเมืองได้ ไม่มีปัญหา เพราะการที่คนพบกัน 5-10 คน ไม่ได้หมายความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเสมอไป เพราะการสำรวจสมาชิกพรรคมีหลายวิธี เชื่อว่าพรรคการเมืองทำเป็นและก็ทำอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย