กรุงเทพฯ 12 พ.ย.- กกต.เตรียมหารือตอบหนังสือขอหารือของพรรคใหญ่ ปชป.-พท กระบวนการไพรมารี่ -ตั้งสาขา – คสช.ไม่ปลดล็อคทำไรได้บ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันพรุ่งนี้ ( 13 พ.ย.) ที่ประชุมจะพิจารณาร่างหนังสือตอบกลับคำถามของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยที่ได้ส่งมาถึงประธาน กกต. เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้สอบถามใ3 ประเด็นคือ 1. การใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของสมาชิกพรรคจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสรรหากำหนดก่อนวันที่หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ 2. สมาชิกที่ไม่ได้จ่ายค่าบำรุงพรรคประจำปีมีสิทธิได้ลงทะเบียน เพื่อขอใช้สิทธิเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ และ 3.การจัดประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อจะจัดไม่พร้อมกันในวันและเวลาเดียวกันได้หรือไม่
พรรคประชาธิปัตย์ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากทั้ง 3 ประเด็นไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงต้องการความชัดเจนว่าพรรคมีอำนาจดำเนินการและเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคหรือไม่
ส่วนพรรคเพื่อไทยได้สอบถาม 4 ประเด็น คือ 1. เมื่อมีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองในจังหวัดใด สาขาพรรคการเมืองจะมีเขตพื้นที่รับผิดชอบส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งเหมือนกับที่บัญญัติในบทเฉพาะกาลมาตรา 145 ที่ใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองใช้บังคับหรือไม่ หรือสาขาพรรคการเมืองจะมีเขตพื้นที่รับผิดชอบและส่งผู้สมัครได้เฉพาะในเขตเลือกตั้งที่เป็นที่ตั้งสาขาพรรคเท่านั้น
2.กรณีที่สาขาพรรคการเมืองมีเขตพื้นที่รับผิดชอบและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้งตามมาตรา 145 การคัดเลือกผู้สมัครหรือไพรมารี่โหวต ของสาขาพรรคในแต่ละเขต จำเป็นต้องมีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้น ร่วมคัดเลือกผู้สมัครด้วยหรือไม่ หากไม่มีจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและมีปัญหาอะไรหรือไม่
3.การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามข้อยกเว้นที่ไม่ต้องดำเนินการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 50และมาตรา 51 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ยังจำเป็นต้องมีคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 49 วรรคสองอยู่หรือไม่ หรือพรรคการเมืองสามารถกำหนดในข้อบังคับให้อำนาจคณะกรรมการบริหารในการกำหนดตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความเหมาะสมส่งสมัครรับเลือกตั้งได้เลย และหากเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารในการกำหนดตัวบุคคลเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวจะมีแนวทางอย่างไรในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
และ 4.ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการต่างๆ ภายในเวลาที่กำหนดนับแต่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งการแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่แตกต่างจากนายทะเบียนสมาชิกเดิมภายใน 90 วัน จัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท จัดให้สมาชิกชำระค่าบำรุงให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คนภายใน 180 วัน แต่ขณะนี้ประกาศ คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ พรรคเพื่อไทยสามารถดำเนินกิจกรรมอย่างใดตามที่บังคบให้พรรคต้องดำเนินการตามมาตรา 141 ได้บ้างหรือไม่เพียงใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าร่างหนังสือตอบข้อหารือ 2 พรรคการเมือง ด้านกิจการพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต.ได้เคยเสนอให้ที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.พิจารณามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกตีกลับโดยที่ประชุม กกต.เห็นว่าคำตอบที่จะให้กับพรรคการเมืองยังคลุมเครือไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงมีมติให้สำนักงานฯ ไปดำเนินการใหม่ พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อสอบถามเกี่ยวกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านพรรคการเมืองของสำนักงานฯ ขึ้นมาพิจารณาเพื่อตอบข้อหารือดังกล่าว
อย่างไรก็ตามที่ประชุม กกต. ยังมีความกังวลเรื่องระยะเวลาการตอบกลับ โดยเห็นว่าจะต้องเร่งดำเนินการหรืออย่าช้าต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือซึ่งจะครบเวลาดังกล่าวในวันที่ 18 พ.ย.นี้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกร้องว่ากระทำการเข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรม เนื่องจากมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. กำหนดว่า ในกรณีที่พรรคการเมือง หรือผู้สมัครสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของ กกต. ให้ กกต.ตอบข้อสอบถามให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันสอบถาม และเมื่อตอบแล้วให้เผยแพร่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป หากตอบไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าเป็นจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม .-สำนักข่าวไทย