ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 11 พ.ย.- เวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “บททดสอบรัฐธรรมนูญใหม่ บนประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา” มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้เกิดการกว้านซื้ออดีต ส.ส.เข้าพรรค และไม่ได้ลดอิทธิพลพรรคใหญ่อย่างแท้จริง ขณะที่ รัฐธรรมนูญปราบคอร์รัปชั่นได้ แต่ไม่สามารถเอาผิดองค์กรอิสระที่ทำผิดเองได้
สถาบันพระปกเกล้าจัดประชุมวิชาการเรื่อง “บททดสอบรัฐธรรมนูญใหม่ บนประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา” โดย นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ควรจะดูต่อจากนี้คือ เมื่อใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะทำให้หลุดความเป็นอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด
นางสิริพรรณ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระบบเลือกตั้งที่เน้นตัวบุคคล บัตรเลือกตั้งมีเพียงหนึ่งบัตร ที่เลือกผู้สมัครในระบบเขต สิ่งที่นักการเมืองอาจจะทำหลังจากนี้ คือ การกว้านซื้ออดีต ส.ส.เก่า มานั่งอยู่ในพรรคการเมือง นอกจากนี้ ประชาชนผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ได้ทันที ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะต้องมีอีกหลายขั้นตอนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า การเลือกตั้งใหม่นั้นเข้าใจง่าย และช่วยลดอิทธิพลของพรรคใหญ่นั้น เห็นว่าจะทำให้เกิดความสับสนมากกว่า และไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระจายตัวแทนของพรรคการเมือง สิ่งที่เราจะได้คือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือผู้มีอิทธิพลจะกลับมา” นางสิริพรรณ กล่าว
“เชื่อว่า หลังใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เส้นทางสู่ประชาธิปไตย อาจไม่ได้สวยหวานมากนัก ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านคือ ต้องเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งแสดงความเห็น และมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ ยังควรมีพรรคการเมืองหน้าใหม่ออกมาบ้าง และต้องมีการยอมรับความชอบธรรมของเนื้อหา กระบวนการร่าง และผู้ร่างรัฐธรรมนูญ อย่ามองว่าการเลือกตั้ง คือการเลือกนักการเมือง แต่ให้มองว่าเป็นการแสดงพลังของประชาชน และจะได้สถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนและสามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้” นางสิริพรรณ กล่าว
ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดกันเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ของตัวเองพวกพ้อง และผู้ปกครองลุแก่อำนาจค่อนข้างมาก รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จึงพยายามเขียนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ การเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจจึงเข้มข้นมาก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่มาของชื่อ “รัฐธรรมนูญปราบโกง”
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอื้อประโยชน์ในการปูทาง เพื่อสืบทอดอำนาจ สิ่งที่เห็นชัดคือ การให้ คสช.สามารถพิจารณาคนมาเป็น ส.ว.ได้ทั้ง 250 คน และยังมี 6 คนที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งด้วย ขณะเดียวกัน ส.ว.ยังมีส่วนสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสืบทอดอำนาจ” นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ กล่าวอีกว่า การออกกฎหมายลูกต่างๆนั้น เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่อำนาจ ผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องผ่านการทำไพรมารีโหวตภายในพรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะเกิดปัญหา เพราะมีสมาชิกพรรคจำนวนมาก จึงกำลังหารือกันว่า จะทำไพรมารีโหวตกันอย่างไร อีกทั้ง การกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงเจตนารมณ์ของตนเองได้ และหากในอนาคต ส.ว.ไม่เคารพเสียงข้างมากของประชาชน ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันคิดต่อไปว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่
ขณะที่ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ดีมาก มีการออกมาตรการ กลไก และนโยบายรอบด้านมากขึ้น ดังนั้น ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้ทุกมาตรการในรัฐธรรมนูญถูกนำไปใช้ และทำอย่างไรให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจ พร้อมทวงถามและใช้สิทธิ์ตามมาตรการต่างๆเหล่านั้น
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนหลักการไว้ดี แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ปัญหาคือ วันนี้ไม่มีใครยอมเสียประโยชน์ กลุ่มผู้มีอำนาจรักษาประโยชน์ ดังนั้น เราจะต้องผ่านความท้าทายนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ อาจใช้เวลามากขึ้น แต่ต้องประสบความสำเร็จ” นายมานะ กล่าว .- สำนักข่าวไทย