สำนักข่าวไทย 10 พ.ย.-หลังโครงการก้าวคนละก้าวดำเนินการมา 8 วัน และได้รับผลตอบรับสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 165 ล้านบาท 3 รพ.จาก 11 รพ.ที่จะได้รับบริจาคช่วยเหลือ ระบุว่าจะนำเงินที่ได้ไปซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อการดูแลผู้ป่วย ลดปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากต้องใช้เวลานาน
ความคืบหน้าโครงการ ก้าวคนละก้าวของ ‘ตูนบอดี้สแลม’ ในการระดมทุนการบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล (รพ.) จากการสอบถามไปยัง รพ. ที่จะได้รับเงินบริจาค จากการวิ่งครั้งนี้ นพ.ไชยเวช ชนไพศาล ผู้อำนวยการ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า จากการหารือเบื้องต้นกับตูน บอดี้สแลม เงินที่จะได้รับจากการบริจาคจะนำมาใช้ในการพัฒนาศูนย์อุบัติเหตุและผู้ป่วยหนักที่ได้รับงบประมาณจากรัฐ จำนวน 400 ล้านบาทในการก่อสร้าง ได้แก่ จัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับห้องฉุกเฉินที่มีความทันสมัย ระบบรถรับส่งผู้ป่วย เครื่องติดตามสัญญาณชีพ ห้องผ่าตัดฉุกเฉินและห้องไอซียู เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยใน จ.เชียงราย ประมาณ 1.2 ล้านคนและ จ.พะเยา 4.8 แสนคน เนื่องจากกว่าจะส่งต่อผู้ป่วยไปจ.เชียงใหม่ได้ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงและเป็นพื้นที่ภูเขา
นอกจากนี้ ยังให้บริการ ผู้ป่วยตามแนวชายแดนพม่า ลาว ชาวไทยภูเขาและคนไร้สัญชาติด้วย
ด้าน นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการรพ.สุราษฎร์ ธานี กล่าวว่า รพ.มีการวางแผนจะนำเงินที่ได้รับการบริจาคจากโครงการนี้มาใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง ที่จะสามารถทำให้ประชาชนสบายและได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น ได้แก่ 1.อุปกรณ์ในการผ่าข้อเข่าและกระดูกสันหลังผ่านกล้อง ช่วยคนไข้นอนรักษาใน รพ.5-7 วัน จากเดิม 2-3 สัปดาห์ ราคาประมาณ 6-7 ล้านบาท และ 2.เครื่องอัลตราซาวด์ส่องผ่านทางเดินอาหารเพื่อรักษาและผ่าตัดชิ้นเนื้อ หรือชี้เป้าเนื้องอกแทนที่จะต้องผ่าเปิดช่องท้องหรือทรวงอกแต่จะใช้เพียงเข็มเข้าไปตัด หรือดูดออกมาตรวจ หรือในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย จะใช้ในการฉีดยาให้ชาไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดในช่องท้อง
นพ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน รพ.สุราษฎร์ฯรับผิดชอบในการให้บริการการแพทย์ชั้นสูงประชาชนภาคใต้ตอนบนราว 4.5 ล้านคนในปี งบประมาณ 2560 รพ.มีรายรับจากงบประมาณภาครัฐทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 1,600 ล้านบาท รวมแล้ว รพ.มีเงินติดลบสะสมราว 300 ล้านบาท
นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า รพ.ขอนแก่นถือเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยที่ยากไร้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ได้รับงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยและซื้ออุปกรณ์ทาง การแพทย์ แต่เนื่องจากปริมาณของผู้ป่วยที่มาจากหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ทำให้ไม่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง หากได้รับเงินบริจาค จะนำมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องขยายหลอดเลือด ตู้อบทารก และเครื่องมือผ่าตัด ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็น และไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ป่วยใน จ.ขอนแก่น แต่ยังรวมไปถึงผู้ป่วยในอีสานตอนบนด้วย .-สำนักข่าวไทย