กรุงเทพฯ 18 ต.ค. – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ทั้งด้านการศึกษาและการแพทย์ สร้างประโยชน์ให้กับพสกนิกรชาวไทยนานัปการ
ยุคหลังสงคราม เมื่อกว่า 60 ปีก่อน ยุคที่การแพทย์และสาธารณสุขยังไม่เจริญมากนัก ประเทศไทยเผชิญกับโรคระบาด มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก 6 เมษายน ปี 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยมีพระราชปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุข แสดงความห่วงใยราษฎรที่ติดเชื้อวัณโรค “คุณหลวง วัณโรคสมัยนี้มียารักษากันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการฉันจะหาให้อีก ฉันอยากเห็นกิจการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ” ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์ เป็นศูนย์ผลิตวัคซีนบีซีจี แทนการซื้อจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดและควบคุมโรคสะดวกขึ้น จนบรรเทาปัญหาได้ในที่สุด
ปี 2495 เกิดโรคโปลิโอระบาดอย่างรุนแรง ทรงเข้ามาช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งกองทุนโปลิโอสงเคราะห์ จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ หรือปอดเหล็ก พระราชทานแก่โรงพยาบาลต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงการระบาดของโรค และบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ผ่านสถานีวิทยุ อส. พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินบริจาคนี้ พระราชทานให้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จัดสร้างอาคารพร้อมอุปกรณ์รักษาและกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคโปลิโอ
ถัดมา 6 ปี อหิวาตกโรคระบาดรุนแรง พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้ออุปกรณ์ทำน้ำเกลือ และโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานแพทย์ผลิตวัคซีนและน้ำเกลือขึ้นใช้เองได้ อีกทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน ที่สถานพยาบาลพระประแดง จ.สมุทรปราการ ต่อมาทรงจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์การศึกษาแก่บุตรหลานผู้ป่วย ผลจากพระมหากรุณาธิคุณ ปัญหาโรคเรื้อนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ค่อยๆ หายไปในที่สุด
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว ในปี 2497 พระองค์ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ สร้างหุ่นยนต์คุณหมอ มีขนาดเท่าคนจริง แต่งกายแบบคุณหมอ สามารถเดิน ยกมือไหว้ พูด ฟัง โต้ตอบ และทำงานได้เองหลายอย่าง
พระองค์ทรงเข้าพระราชหฤทัยเป็นอย่างดีว่า หุ่นยนต์คือยอดของไอที และสถานที่ที่ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ สถานศึกษา จึงได้พระราชทานหุ่นยนต์คุณหมอให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพไว้ประกอบการสอน ทำให้นักศึกษาได้เรียนเกี่ยวกับโทรคมนาคม คือ การติดต่อสื่อสารทางไกล เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอัตโนมัติจากหุ่นยนต์ นับเป็นพระบรมราโชบายในการพัฒนาความรู้แก่นักศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
การพัฒนาเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา คอยพระราชทานแนวคิดและวิธีปฏิบัติ ตลอดจนนวัตกรรมที่ล้วนแต่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ. – สำนักข่าวไทย