ภูมิภาค 18 ต.ค.- ฟังความปีติสูงสุดในชีวิตจากพสกนิกรหลายสาขาอาชีพที่ได้รับเสด็จฯ อาทิ นายกเทศมนตรีเวียงสาอดีตนักเรียนลูกเสือย้อนวันวานผ่านมา 58 ปี ยังตรึงใจไม่ลืม เช่นเดียวกับสุโขทัยข้าราชการบำนาญสาธารณสุข-อุบลฯ อดีต นศ.พยาบาล มช. รวมทั้งที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน
สุดปิติเฝ้ารับเสด็จฯ อำเภอสา
นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน เปิดเผยถึงความปลาบปลื้มใจเป็นที่สุดทุกครั้งเมื่อได้รำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ที่ว่าการอำเภอสา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2501 ครั้งนั้นตนยังเป็นนักเรียน อายุประมาณ 13 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าลูกเสือร่วมรับเสด็จฯ บรรยากาศในวันนั้นยังจำได้ดี มีประชาชนและชนเผ่าต่างๆจากหลายอำเภอเดินทางมารอเฝ้ารับเสด็จฯ โดยได้เห็นพระองค์ลูบศีรษะชนเผ่าที่มาเข้าเฝ้าอย่างมีพระเมตตา และสิ่งที่จดจำไม่รู้ลืม คือ พระองค์ตรัสถามว่า “อยู่โรงเรียนไหน” ด้วยความตื้นตัน ตื่นเต้น และประหม่า แม้จะซ้อมมาเป็นอย่างดี พูดได้เพียง ขอเดชะ ขอเดชะ ขอเดชะ พูดอยู่แค่นั้น จนทรงกระซิบด้วยพระเมตตาว่า “พูดตามธรรมดาก็ได้” นั่นเป็นภาพความทรงจำที่มีคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้แล้วในชีวิต
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อได้มีโอกาสทำงานรับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา ได้ใช้ความสามารถอย่างที่สุดที่จะอนุรักษ์อาคารไม้ประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2495 เป็นที่ว่าการอำเภอสา ปัจจุบันคืออาคารสำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสา แม้ปัจจุบันจะมีบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป แต่พยายามจะทำให้คงเดิมมากที่สุด เพื่อเป็นอนุสรณ์รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน และพยายามติดตาม “เก้าอี้พระที่นั่ง” ซึ่งทรงประทับในวันนั้นให้กลับคืนมาไว้ที่อาคารไม้ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งเป็นเก้าอี้ไม้แกะสลักลวดลายเป็นครุฑ หายไปกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนชาวอำเภอเวียงสายังยึดมั่นในคำสอนและใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัส
ข้าราชการบำนาญ สธ.ซาบซึ้งเสด็จฯ เยี่ยมชาวเขา
ที่ จ.สุโขทัย นางวารี รักษาสัตย์ อายุ 79 ปี ข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุข ผู้เคยรับเสด็จมาหลายครั้ง เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จฯ จังหวัดสุโขทัยถึง 7 ครั้ง แต่ครั้งที่ได้มีโอกาสรับเสด็จฯ ใกล้ชิดที่สุด คือ ปี 2521 พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมชาวเขาหมู่บ้านท่าแพพัฒนา อ.ศรีสัชนาลัย ทรงตรัสกับพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ว่า “เราพาครอบครัวเรามาเยี่ยมโบราณวัตถุที่มีค่าของเรา” พอได้ยินทุกคนน้ำตาคลอด้วยความปราบปลื้มในความรักและหวงแหนสมบัติของชาติ ในครานั้นพระองค์ยังได้เสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรและพระราชดำเนินชมโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และยังทรงมีพระราชดำรัสให้กรมชลประทานพัฒนาลุ่มแม่น้ำท่าแพ ทรงพระราชทานพันธุ์พืชแก่หน่วยงาน รวมทั้งทรงให้สำรวจและสร้างเหมือง ฝาย คลอง เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะค่อนข้างแห้งแล้ง
ทรงห่วงใยอาทรพสกนิกรยิ่ง
ส่วน จ.อุบลราชธานี ที่สำนักงานเทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ นางอนงค์วรรณ กิตติ์ธนกาญจน์ อายุ 60 ปี ชาวบ้านท่าข้องเหล็ก ตำบลคำน้ำแซบ ข้าราชการบำนาญ เล่าย้อนวันเวลาแห่งความปลื้มปิติพร้อมภาพถ่ายขณะเฝ้ารับเสด็จฯ ว่า เมื่อปี 2519 เป็นนักศึกษาพยาบาล หลักสูตรพยาบาลชนบท คณะแพทยศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เยี่ยมชาวเขาในอำเภอสันกำแพง จึงไปรอรับเสด็จฯ เมื่อพระองค์เสด็จฯ ผ่านมายังจุดที่ตนและประชาชนรอเข้าเฝ้าอยู่ พระองค์ทรงรับสั่งให้ทุกคนลุกขึ้นยืน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวที่ประชาชนนั่งรับเสด็จฯ นั้นเป็นถนนลูกรัง อากาศร้อน จึงไม่ต้องการให้นั่งบนพื้นที่มีความร้อน แสดงให้เห็นถึงทรงห่วงใยอาทรพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทรงรับสั่งนักศึกษาพยาบาลให้นำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งสร้างความซาบซึ้งใจมาจนถึงวันนี้ และน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต รวมทั้งอบรมลูกหลาน
อดีตตำรวจพลร่มหัวหินภูมิใจขับรถไถถวายงานสร้างถนน
ด้านดาบตำรวจละออ จงศรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน อายุ 67 ปี อดีตตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปลาบปลื้มใจในชีวิตเช่นเดียวกัน ได้เข้าเฝ้ารับใช้ถวายงานอย่างใกล้ชิดในขณะรับราชการตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร โดยได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัดให้ทำหน้าที่ขับรถไถ เพื่อก่อสร้างถนนสายห้วยมงคลเชื่อมกับเมืองหัวหินระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2510 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาให้กับราษฎรในตำบลหินเหล็กไฟ ปัจจุบันคือตำบลทับใต้ ซึ่งเดือดร้อนจากการเดินทางและการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรระหว่างหมู่บ้านห้วยมงคล กับตัวเมืองหัวหิน ถือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการคมนาคมโครงการแรกของประเทศ ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ มาติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องขณะเสด็จฯ ประทับ ณ วังไกลกังวล และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทอฟฟี่ห่อกระดาษย่นหลากสีให้เจ้าหน้าที่เพื่อให้กำลังใจในขณะปฏิบัติงาน.-สำนักข่าวไทย