สพฉ. 8 ต.ค.-รมว.สาธารณสุข ยืนยันประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ไม่กระทบกู้ภัย ช่วยเหลือประชาชน ทุกอย่างปฏิบัติเหมือนเดิม ยังสามารถช่วยเหลือส่งต่อผู้ป่วยได้ ย้ำประกาศ แก้ปัญหาแย่งรับผู้ป่วย เพื่อรับเงิน รถไม่ได้มาตรฐาน และเพิ่มการประสานแพทย์ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (บอร์ดสพฉ.) ว่า ตามที่หน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ผ่านการอบรม 40 ชั่วโมง เกิดความวิตกกังวล จะสามารถส่งต่อและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่ได้นั้น ขอยืนยันว่า การปฏิบัติงานกู้ชีพของหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม สามารถให้การช่วยเหลือพื้นฐาน และส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมายังสถานพยาบาลได้ตามปกติ โดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ.2560 ยังไม่ได้ประกาศใช้ทันที แต่จะมีการหารือใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน นี้
ด้าน นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกีดกั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือส่งผลกระทบต่อประชาชน ตรงกันข้ามจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัย ให้เพิ่มชั่วโมงการอบรมมากขึ้น เพื่อการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน รถกู้ชีพฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และมีการประสานกับทีมแพทย์ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วย และรับบริการได้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต พร้อมแก้ปัญหากู้ชีพแย่งรับผู้ป่วยและรับเงิน เบื้องต้นอาจ มีการนำร่องในบางพื้นที่ก่อน จากนั้นก็ปรับเป็นมาตรฐานเดียวกัน เหมือนกันมาตราฐานเอชเอในรพ.
“ประกาศดังกล่าว จะมีผลให้รถกู้ชีพฉุกเฉิน มีมาตรฐานมากขึ้น เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน แยกและสังเกตง่าย ด้วยตัวรถ จะมีสีเขียวมะนาว ในกรณีเป็นรถใหม่ ส่วนรถเก่าจะใช้สติ๊กเกอร์ที่มีคิวอาร์โค๊ต ของ สพฉ. บ่งบอก พร้อมกันนี้ประกาศฉบับนี้ยังเอื้อให้คนทำงาน ที่มีจิตอาสา หากประสบอุบัติเหตุ ยังสามารถได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา จากกองทุน การแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย “ นพ.อัจฉริยะ กล่าว.-สำนักข่าวไทย