ดีเอสไอ 16 ต.ค.- อ.อ๊อด พร้อมผู้เสียหาย ร้องดีเอสไอ เอาผิดผู้ผลิตสารเคลือบเครี่องยนต์ไม่ได้มาตรฐาน ทำรถเสียหายและโฆษณาเกินจริง
นายวีรชัย พุทธวงศ์ หรืออ.อ๊อด อาจาร์ยภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายวินิจจัย ชลานุเคราะห์ สื่อมวลชนสายยานยนต์ พร้อมผู้เสียหายจากสารเคลือบเครื่องยนต์ยี่ห้อหนึ่งเข้ายื่นหนังสือขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนกรณีผู้ประกอบการสารเคลือบเครื่องยนต์นำสินค้าไม่มีคุณภาพโฆษณาเกินจริง และใช้สารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเป็นส่วนประกอบจนทำให้รถยนต์เสียหาย โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าร้องทุกข์กับกองปราบปรามและสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ไว้แล้ว แต่ต้องการให้ดีเอสไอซึ่งมีกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค รับสอบสวนคดีในภาพรวม โดยมีพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับคำร้อง พร้อมระบุว่าจะเร่งตรวจสอบรายละเอียดในคำร้องว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคและพรบ.วัตถุอันตราย หรือไม่ นอกจากนี้จะตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมไปยังสคบ.และกองปราบก่อนเสนอให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
ด้านนายวีรชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หลังจากกลุ่มผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ที่สคบ. โดยสคบ.สั่งให้ยกเลิกการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ถูกต้องแต่ยังไม่ได้ตรวจสอบสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังวางจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ โดยสารอันตรายดังกล่าวเบื้องต้นพบว่ามีสารก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หากใช้แล้วจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายรุนแรง พร้อมขอให้ดีเอสไอขยายผลตรวจสอบไปถึงการนำเข้าสารเคมีตามที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างว่านำเข้าจากอเมริกาและออสเตรเลียขณะที่ภาคประชาชนตรวจสอบพบว่ามีการซื้อสารเคมีจากในประเทศ สำหรับวัตถุอันตรายซึ่งเป็นส่วนประกอบในสารเคลือบเครื่องยนต์ กรมธุรกิจพลังงานระบุว่าไม่ใช่น้ำมันจึงเป็นผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจดทะเบียนขายเป็นน้ำมันได้ จึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ผู้ใช้รถและประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายทั่วประเทศ
ขณะที่นายวินิจจัย กล่าวว่าสารเคลือบเครื่องยนต์ดังกล่าวเมื่อใช้ไปแล้วจะส่งผลให้เพลงข้อเหวี่ยง ก้านสูบ ลูกสูบพัง เบื้องต้นพบว่าเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมโลหะ เมื่อถูกความร้อนภายในห้องเครื่องจะเผาไหม้ ละลายรวมกับกรดเกลือและพาราฟิน จับตัวเป็นก้อนแข็ง ครูดกับก้านสูบและลูกสูบ แหวนน้ำมันละลายจมไปในลูกสูบ น้ำมันเครื่องไม่สามารถเข้าไปในลูกสูบ ส่งน้ำมันไปเลี้ยงฝาสูบได้น้อยลง เครื่องยนต์ไหม้ ปกติหากจะนำสารดังกล่าวไปใช้จะต้องนำไปสกัดคลอรีนออก หรือนำไปผสมในปริมาณจำกัด แตผู้จำหน่ายสารเคลือบเครื่องยนต์ดังกล่าวกลับนำสารเคมีไปกรอกใส่ขวดขายเลย ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์.-สำนักข่าวไทย