กรุงเทพฯ 16 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานยืนยันระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่ได้แอบระบายน้ำเพิ่มตอนกลางคืน ส่วนเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มขึ้น เพราะมีฝนตกในพื้นที่จากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำเหนือที่ไหลมาถึงจังหวัดนครสวรรค์อยู่ในอัตรา 2,849 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าทรงตัว น้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมาสมทบมีปริมาณลดลง วันนี้ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท 2,518 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะคงปริมาณไม่เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจนกว่าฝนที่ตกในภาคกลางจะลดลง
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วง 4 วันที่ผ่านมาระดับน้ำจังหวัดท้ายเขื่อนสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร เพราะมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่งไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา แต่ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่ามีการแอบระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนเจ้าพระยาตอนกลางคืน โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขณะนี้ได้ให้สำนักงานชลประทานที่ 12 ชี้แจงไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้น เนื่องจากอาศัยอยู่ริมลำน้ำนอกคันกั้นน้ำ
ทั้งนี้ จากประกาศของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ น้ำทะเลจะหนุนสูงจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม จึงได้สั่งการให้ลดปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานครมากที่สุด โดยน้ำเหนือที่ไหลมาถึงปทุมธานีจะเร่งสูบออกที่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำอีกส่วนหนึ่งใช้เขื่อนเจ้าพระยาทดเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักมาออกที่ลพบุรีผ่านประตูระบายน้ำพระราม 6 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผันเข้าคลองระพีพัฒน์ไหลลงสู่คลองพระองค์ไชยานุชิตลงสู่แม่น้ำบางปะกง ขณะนี้ได้นำเครื่องผลักดันน้ำมาติดตั้งเร่งระบายออกทะเล น้ำที่ระบายจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อไหลมาถึงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะสามารถให้อยู่ในอัตรา 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่เมื่อน้ำเข้าสู่ กทม.จะไม่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นและเมื่อมีน้ำท่วมขังไหลลงมาสมทบจะระบายออกที่ประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกส่วนหนึ่งระบายลงสู่คลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการลงอ่าวไทยได้วันละ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ น้ำจากแม่น้ำป่าสักที่จะไหลมาทางคลองระพีพัฒน์ ก่อนเข้าสู่ กทม.ได้ผันให้ออกประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเร่งเดินเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องระบายน้ำทุกเครื่องให้ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่รังสิต ปทุมธานี เชื่อว่าระบบระบายน้ำทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งระบายน้ำท่วมขังใน กทม.และจะเกิดขึ้นใหม่จากฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม.-สำนักข่าวไทย