นายกฯ กังวลสถานการณ์น้ำของประเทศความเสี่ยงสูง

ทำเนียบฯ 10 ต.ค.-  นายกฯ กังวลสถานการณ์น้ำของประเทศ มีความเสี่ยงสูง ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มรูปแบบ เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล ลดวิกฤต ขณะที่ รมว.เกษตรฯ ระบุ เขื่อนหลัก 34 แห่งทั่วประเทศ ยังรับน้ำได้อีกร้อยละ 21 ของความจุ เร่งผลักดันน้ำในภาคอีสานลงแม่น้ำโขง  ผลักดันน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกทะเล  พร้อมตัดน้ำเข้าทุ่ง 12 ทุ่ง ตั้งแต่สุโขทัย เชื่อ ดูแลได้ ถ้าปริมาณฝนไม่มากเกินไป  ยืนยัน ไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ สั่งติดตามสถานการณ์ทุก 24 ชั่วโมง รายงานผลทุก 6 ชั่วโมง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี   ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (10 ต.ค.) ยอมรับว่า มีความห่วงใยและกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของประเทศไทยที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อมีปริมาณน้ำสะสมจากพื้นที่ตอนบนไหลมาสมทบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล ก็ยิ่งทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น  จึงต้องการให้มีการตัดแยกน้ำ บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 


“การที่จะบริหารจัดการน้ำได้ จะต้องลดปริมาณน้ำสะสมในภาคเหนือ เพื่อรองรับน้ำฝนที่ลงมาเพิ่ม หากเราเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ จะลดวิกฤตไปได้มาก เวลานี้ปัญหาอยู่ที่พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ รัฐบาลเห็นใจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และจะพยายามทำให้ดีที่สุด เราต้องเตรียมตัวและรับมือกับภัยธรรมชาติ” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ได้ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และให้เผยแพร่ข้อมูลตัววิ่งผ่านสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลความเสี่ยงจากพายุลูกใหม่  ที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนนี้ 

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า  ขณะนี้ เขื่อนหลักทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 79 ของความจุ สามารถรับน้ำได้อีก ร้อยละ 21 ของความจุ    โดยพื้นที่เสี่ยง คือ  ภาคอีสาน ต้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่อีสานตอนกลาง ลงแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขง  และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ถือว่ามีความสำคัญ ต้องเฝ้าระวังใน 3 จุด คือ จ.นครสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 


“เขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้ได้เร่งระบายน้ำ 2,250 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่จะไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที สำหรับบางไทร ซึ่งเป็นพื้นที่กว้าง ขณะนี้ กำลังการระบายน้ำอยู่ที่ 2,260 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อที่จะผลักดันน้ำลงสู่ทะเล” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า  วันที่ 12-14 ตุลาคม อาจเกิดฝนตกหนัก เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำ โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจะอยู่ที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยา อ.บางบาล และ อ.บางไทร และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แต่จะไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์สมทบเพิ่มเติม เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากขึ้น

“นอกจากนี้ จะมีการตัดน้ำเข้าสู่ 12 ทุ่ง ตั้งแต่ จ.สุโขทัย ไล่เรียงลงมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ถ้าฝนไม่ตกลงมามากเกินไป เชื่อว่าจะดูแลได้ และจะมีติดตามสถานการณ์ทุก 24 ชั่วโมง รายงานผลทุก 6 ชั่วโมง” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว         .- สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

วันแรก ตาย 52 อุบัติเหตุ 322 ครั้ง บาดเจ็บ 318 คน

สถิติวันแรก 10 วันอันตราย ตาย 52 อุบัติเหตุ 322 ครั้ง บาดเจ็บ 318 คน​ “เพิ่มพูน” เน้นทุกฝ่ายช่วยกันดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก เข้มเรื่องกฎหมาย

“อนุทิน” ขอทุกฝ่ายรอศาลปกครองตัดสิน “ที่ดินเขากระโดง”

“อนุทิน” ขอทุกฝ่ายหยุดตอบโต้ปม “เขากระโดง” รอศาลปกครองตัดสินชี้ขาด ยันแม้ไม่ใช่ “มท.หนู” กรมที่ดินก็ตัดสินแบบนี้

เตือนภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น ส่วนไทยตอนบน อุณหภูมิลดลง

กรมอุตุฯ เตือนภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง อีสานอุณหภูมิลด 2-4 องศาฯ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาฯ