กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – ธนบัตรไทยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่ธนบัตรที่ระลึกเริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดภาพธนบัตรที่ระลึก เนื่องในโอกาสสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งธนบัตรที่ระลึกฯ ล้วนมีคุณค่าทางจิตใจที่พสกนิกรชาวไทยได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก
สำหรับธนบัตรที่ระลึก เป็นธนบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่ง ธปท.เริ่มจัดพิมพ์และนำธนบัตรที่ระลึกออกใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นบัตรธนาคาร เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา 5 ธันวาคม 2530 จากนั้นตั้งแต่ปี 2530-2559 ได้จัดพิมพ์และนำธนบัตรที่ระลึกออกใช้แล้วรวม 18 ครั้ง
ลวดลายบนธนบัตรแต่ละแบบได้เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นภาพประธานด้านหน้าธนบัตร และมีการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านดนตรี
สำหรับธนบัตรที่ระลึก ฉบับพิเศษ รัชกาลที่ 9 ชุดสุดท้าย ซึ่งเปิดให้จ่ายแลกเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 เพื่อเป็นการถวายความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 มี 5 ชนิดราคา ได้แก่ 20 บาท, 50 บาท, 100 บาท, 500 บาท และ 1,000 บาท โดยมีลักษณะด้านหน้าเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 16 ที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ส่วนภาพด้านหลังธนบัตรได้เชิญภาพพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริที่สะท้อนเรื่องราวตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ท่าน ซึ่งล้วนเป็นภาพที่ประชาชนชาวไทยคุ้นตาในแต่ละช่วงพระชนมพรรษา และทำให้ย้อนรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของประชาชน และยังเป็นสิ่งเตือนใจให้ประชาชนใช้ชีวิตตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย
ธนบัตรแต่ละแบบ แต่ละชนิดราคา มิเพียงแต่มีมูลค่าตามราคาที่ตราไว้เท่านั้น หากยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และความงดงามทางศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวในอดีตและความเป็นไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย. – สำนักข่าวไทย