นนทบุรี 5 ต.ค. – รมว.พาณิชย์เผยไทย-สหรัฐฯ ก้าวข้ามปัญหาขาดดุลการค้า พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทน์โอชา) ตามคำเชิญของนายโดนัลล์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะการหารือด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายมีโอกาสหารือกันอย่างใกล้ชิด เข้าใจกันมากขึ้น และพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยได้ก้าวข้ามปัญหาการขาดดุลการค้า เน้นการจับมือเป็นพันธมิตรเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน
สำหรับการหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้ง 2 เห็นพ้องกันว่านโยบายอเมริกันมาก่อน หรือ America First และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สามารถเกื้อกูลและส่งเสริมกันได้ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐนำเข้าเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสหรัฐ ขณะที่ไทยก็สนใจนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีคุณภาพสูงจากสหรัฐ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้า ซึ่งเป็นการเสริมผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และสามารถนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต โดยปี 2559การค้า 2 ประเทศมีมูลค่า 36.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐ 24.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนักธุรกิจไทยมีการลงทุนในสหรัฐเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยลงทุนในสหรัฐเป็นสาขาการผลิตอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ อาทิ อาหาร พลังงาน และยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐกว่า 70,000-80,000 ตำแหน่งในปี 2559 และมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานเพิ่มอีกกว่า 10,000 ตำแหน่ง จึงขอให้สหรัฐช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกการลงทุนของไทยในสหรัฐด้วย โดยเฉพาะไทยและสหรัฐมีสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2509 ที่ให้สิทธินักลงทุนของทั้ง 2 ฝ่ายเยี่ยงคนชาติ นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนให้นักลงทุนสหรัฐพิจารณาการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับประเด็นการค้าที่ยังเป็นอุปสรรคได้มอบหมายระดับเจ้าหน้าที่หารือกันต่อไป โดยไม่ได้ลงรายละเอียดในการพบกันครั้งนี้
ทั้งนี้ ไทยขอบคุณสหรัฐที่ได้เปิดทบทวนการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนอกรอบ (Out of cycle review: OCR) ซึ่งไทยจะมุ่งมั่นปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยอย่างเข้มแข็งจริงจังต่อไป โดยหวังว่าผลการทบทวนจะนำไปสู่การถอดไทยจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) โดยเร็ว รวมทั้งขอให้สหรัฐสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปสหรัฐ เช่น การลดความเข้มข้นของระดับการฉายรังสีที่สหรัฐกำหนดในผลไม้ไทย เพื่อไม่ให้กระทบคุณภาพและผิวของผลไม้ที่ไทยส่งไปสหรัฐ เช่น มะม่วง ตลอดจนเร่งออกใบอนุญาตด้านสุขอนามัยให้สินค้าส้มโอของไทย ซึ่งได้ยื่นคำขอไว้ตั้งแต่ปี 2558 โดยขอให้สหรัฐออกประกาศใน Federal Register โดยเร็ว
นางอภิรดี กล่าวว่า การเดินทางเยือนสหรัฐครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยเดินทางมาหารือกับนักธุรกิจสหรัฐโดยเฉพาะนักธุรกิจไทยที่ลงทุนในสหรัฐ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ซึ่งผลการหารือหอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐตกลงที่จะจัดทำ MOU ระหว่างกัน โดยมีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและคัดเลือกสาขาธุรกิจที่จะสามารถร่วมมือกันได้ เช่น สาขาพลังงาน การค้าบริการ นวัตกรรมและ IT การศึกษา การแพทย์และสุขภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น รวมทั้งตกลงที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงของหอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐหารือกันเป็นประจำทุกปี โดยหอการค้าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือครั้งแรกปี 2561 ถือเป็นโอกาสของการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 185 ปีของทั้ง 2 ประเทศด้วย
นอกจากนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) ยังได้ลงนาม MOU กับหน่วยงานด้านการจ้างงานของมลรัฐโอไฮโอ (JobsOhio) เรื่องความร่วมมือในการศึกษาและจัดทำโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เขตเบลมอนต์ (Belmont County) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี บริษัทเอสซีจี (SCG) ได้ลงนาม MOU และคำสั่งซื้อถ่านหินกับ Smoky Mountain Coal Corporation ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เนื่องจากมองว่าจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน ในขณะเดียวกันการสั่งซื้อดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ไทยสำหรับการสั่งซื้อวัตถุดิบถ่านหินที่มีคุณภาพดี มลภาวะน้อย และให้ความร้อนสูง มาต่อยอดใช้ประโยชน์ภายในประเทศ
ทั้งนี้ ในการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีกับสภานักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะผลักดันให้มูลค่าทางการค้าระหว่าง 2ประเทศ เพิ่มเป็น 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูง โดยไทยเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น
ปัจจุบันสหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยปี 2559 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐ มีมูลค่า 36.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐ 24.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สหรัฐเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่านำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในด้านการลงทุนในปี 2559 สหรัฐลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.14.-สำนักข่าวไทย