5 ต.ค. – ไปดูตัวอย่างเกษตรอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการเกษตร สามารถดูแลพืชผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตามวิถีเกษตรกรแบบดั้งเดิม มือของเกษตรกรถือเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการดูแลพืชผล แต่ความเคยชินของมือ หรือความรู้สึกของแต่ละคนก็แตกต่างกัน อาจไม่คงที่ แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสามารถนำคอมพิวเตอร์เข้ามาปรับใช้ ทำให้ควบคุมการเพาะปลูกทำได้คงที่กว่าเดิม
Smart Think เป็นระบบที่พัฒนาโดยคนไทย เป็นนวัตกรรมสำหรับควบคุมโรงเรือนและสวนการเกษตรอัจฉริยะ มีความสามารถในการควบคุมและตัดสินใจในการสั่งงานแบบอัตโนมัติแทนมนุษย์ หรือผู้ใช้งานสามารถสั่งงานจากทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อมาตอบโจทย์การลดแรงงานคน และลดความเสี่ยงที่ผลผลิตเสียหายได้เป็นอย่างดี
แอพพลิเคชั่นทำงานควบคู่กับเซ็นเซอร์ที่จะตรวจสอบค่าต่างๆ เพื่อนำข้อมูลกลับมาคำนวณและสั่งการทำงานตามระบบที่ตั้งไว้ให้ทำงานได้ตามความต้องการ การควบคุมปัจจัยต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญต่อผลผลิตที่ดี ได้แก่ การควบคุมช่วงของค่ากรด-ด่าง ทำให้พืชเติบโตได้ดี สม่ำเสมอ การควบคุมปริมาณปุ๋ยทำให้พืชสามารถดูดซึมน้ำและอาหารได้ดี และวัดค่าอุณหภูมิเพื่อให้ผักอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเติบโต และควบคุมความชื้นเพื่อลดการเกิดโรค
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เหมาะสำหรับพืชไร่ในที่กว้างๆ โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ที่นำมาใช้ช่วยในการพ่นของเหลว เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีทางการเกษตร ส่วนหนึ่งเพื่อลดการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงของเกษตรกร อีกทั้งยังสามารถลดเวลาและแรงงานได้ โดรนเพื่อการเกษตรลำนี้พัฒนาโดยบริษัทไลลา เอวิชั่น เป็นสัญชาติไทยโดยแท้ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สามารถหาได้จากในประเทศไทย ทำให้มีราคาถูกกว่าโดรนจากต่างประเทศ
ทั้งสองนวัตกรรมได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรือนในราคาที่จับต้องได้
การเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากยังยึดอยู่แต่ในการทำเกษตรแบบเดิมอาจทำให้เกิดการพัฒนาล่าช้า การที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มบางส่วนก็ช่วยให้ประเทศเกิดการพัฒนาไปได้อย่างก้าวกระโดด. – สำนักข่าวไทย