กทม. 2 ต.ค. – ทุ่งพระเมรุ หรือท้องสนามหลวงในปัจจุบัน มีความเป็นมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีความยิ่งใหญ่เคียงคู่กับราชวงศ์จักรี จะเป็นสถานที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์อีกครั้งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ท้องสนามหลวง หรือทุ่งพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่ที่จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพหลายครั้ง กำเนิดขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์มีพระราชปณิธานที่จะสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นปึกแผ่นเกรียงไกรเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา และสืบทอดโบราณราชประเพณีอันยิ่งใหญ่ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขอบเขตพระบรมมหาราชวังขึ้น และเว้นพื้นที่ที่มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูระหว่างพระบรมมหาราชวัง หรือวังหลวง กับพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ไว้ เพื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ของพระนคร รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับสร้างพระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุส่งเสด็จพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูงคืนสู่สวรรคาลัย
พระเมรุมาศที่สร้างขึ้นครั้งแรกคือ พระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระราชบิดา โดยถวายพระเกียรติยศเฉกเช่นการออกพระเมรุของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อครั้งกรุงเก่า และได้มีการจัดงานพระศพเจ้านายสำคัญอีกหลายพระองค์นับแต่นั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงเรียกกันว่า “ทุ่งพระเมรุ” สืบต่อมา และในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าชื่อที่ผู้คนเรียกว่าทุ่งพระเมรุ นานๆ จะมีงานพระเมรุสักครั้ง เป็นชื่อที่ฟังดูไม่ดี จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง”
แม้จะมีประกาศให้เลิกเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าทุ่งพระเมรุมานานแล้วก็ตาม แต่หน้าที่ของสนามหลวงในความเป็น “ทุ่งพระเมรุ” ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยได้ใช้เป็นสถานที่ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 8 ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ และได้จัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน รวมถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงอีกหลายพระองค์ . – สำนักข่าวไทย