ก.แรงงาน 27ก.ย.-รมว.แรงงาน กำชับเจ้าหน้าที่เร่งประสานใกล้ชิดกับทางการเมียนมาแก้ไขปัญหาคิวยาวในการตรวจสัญชาติ พร้อมเน้นย้ำลูกจ้างต่างด้าวเมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วจะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับลูกจ้างคนไทย
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยในปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสัญชาติแรงงานเมียนมา ที่เกรงว่ามีคิวตรวจสัญชาติยาวอาจทำให้ดำเนินการไม่ทันตามเวลาที่กำหนด โดยได้กำชับให้ดูแลและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางการเมียนมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน
สำหรับกรณีที่แรงงานเมียนมาชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสแล้วและมีคิวนัดหมายไปตรวจสัญชาติที่ศูนย์ตรวจสัญชาติแรงงานเมียนมา แต่ไม่สามารถตรวจสัญชาติได้เนื่องจากคิวเต็มนั้น กระทรวงแรงงานได้หารือร่วมกับอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำประเทศไทยแล้ว โดยทางการเมียนมาแก้ไขปัญหาความหนาแน่นด้วยการเพิ่มคิวและเพิ่มเครื่องผลิตเล่มเอกสารรับรองบุคคล (CI) ที่ศูนย์ฯจังหวัดระนอง สมุทรสาครและสมุทรปราการ ซึ่งสามารถผลิตเอกสารรับรองบุคคล (CI) ได้เพิ่มอีกเป็นวันละ 1,400 เล่มต่อหนึ่งศูนย์
ส่วนศูนย์ฯ ที่เหลืออีก 6 ศูนย์ฯ คือ ที่เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์และสงขลาจะให้บริการได้ 1,000 คิวต่อวัน และจะให้ศูนย์ฯ ตรวจสัญชาติให้กับแรงงานกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (กลุ่มใบจับคู่) ที่ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสและมีคิวนัดหมายไปตรวจสัญชาติตรงตามวันนัดทุกคน รวมทั้งตรวจสัญชาติกลุ่มใบจับคู่ที่ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสแต่ไม่มีคิวนัดด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาในรูปแบบ One Stop Service (OSS) ณ สถานที่ที่ทางการเมียนมาตั้งศูนย์ตรวจสัญชาติเพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวในการขออนุญาตทำงาน โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (Visa) Non Immigrant L-A และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ค่าธรรมเนียม 500 บาท กระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพ 500 บาท ทำประกันสุขภาพ 500 บาทรวมเป็นเงิน 1,000 บาท กรมการจัดหางานออกหนังสือรับรองแทนใบอนุญาตทำงาน ค่าธรรมเนียม 450 บาท ค่าคำขอ 100 บาท โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านจุดบริการเคาน์เตอร์ เซอร์วิส รวมเป็นเงิน 560 บาท(ค่าคำขอ 100 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน 450 บาท ค่าบริการเคาน์เตอร์ เซอร์วิส 10 บาท) ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการวันที่ 15 – 25 กันยายน 2560 แรงงานเมียนมาได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงานแล้ว จำนวน 26,839 คน นายจ้างที่คนต่างด้าวได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงาน จำนวน 9,121 ราย ขณะนี้มีคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาชำระเงินค่าธรรมเนียมผ่านจุดบริการเคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำนวน 196,356 คน ได้รับคิวตรวจสัญชาติ 153,492 คน และไม่ได้รับคิวนัดตรวจสัญชาติ จำนวน 42,864 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ย.2560)
ส่วนกรณีลูกจ้างต่างด้าวเมื่อได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนจะต้องมีหน้าที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 46 ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ซึ่งฐานในการคำนวณเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 – 15,000 บาท และเมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วจะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับลูกจ้างคนไทย ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี จากกองทุนประกันสังคม ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน และกองทุนเงินทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน .-สำนักข่าวไทย