โรงแรมริชมอนด์สไตล์ลิช คอนเวนชั่น 18 ก.ย.-“พล.อ.ไพบูลย์” ชี้ต้องเน้นการป้องกันการทุจริตมากกว่าการปราบปราม ระบุไม่เคยเห็นใครโกงแล้วได้ดี
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ” ภายหลังเยี่ยมชมนิทรรศการการแสดงผลงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในงานการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 ว่า ทุกวันนี้ทุกคนรู้จักคำว่าธรรมาภิบาล ดังนั้นให้มาพูดเรื่องทฤษฎีก็คงไม่พูดแล้ว เพราะเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้ถึงปัญหาว่าการทุจริตในบ้านเมืองนั้นรุนแรง และบั่นทอนการพัฒนาบ้านเมืองขนาดไหน ที่ผ่านมามียุทธศาสตร์ แต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ดังนั้นต้องทำให้คนกล้า ทุจริตจะน้อยลง
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การทุจริตเกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นอันดับต้น ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้เกิด เพราะมีงบประมาณ มีผลประโยชน์ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ หากรัฐบาลกล้าที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ปัญหาก็จะลดน้อยลง ซึ่งต้องใช้เวลา และกว่าจะไปถึงตรงนั้น ทรัพยากรของชาติก็คงหมดไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าการเสียงบประมาณไปกับปราบปรามการทุจริต ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งตนคิดว่าระบบการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ต้องป้องกันไม่ให้เกิด
“เมื่อไม่นานมานี้ ป.ป.ช.ได้มีการตั้งหน่วยงาน อย่างศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ขึ้นมา ทั้งที่หน่วยงานรัฐมีหน่วยงานนี้มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานผลการดำเนินงานใด ๆ ซึ่งผมอยากฝากการบ้านไปถามว่า แล้วแบบนี้จะให้ ศปท.เดินหน้าอย่างไร เพื่อช่วยเสริมโครงสร้างให้ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับหน่วยงานงานของรัฐได้ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไปบอกศาล ไปบอกหน่วยงานราชการให้ดำเนินการโดยเร็วได้ และยังมีเสียงติงไปถึงรัฐบาลว่าคดีผ่านมานานแล้ว ทำไมไม่คืบหน้า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.พยายามทำงานตรงนี้หนักมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้ระบบการปราบปรามนำ ทำให้ที่ผ่านมาเราสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก และไม่ค่อยมีคนรับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ผมดีใจที่การสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนเรื่องการต่อต้านการทุจริตดีขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นการป้องกันปัญหาระยะยาว” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งหากไปดูระเบียบก็น่าตกใจ เพราะใครก็ได้จะมาเป็นผู้นำท้องถิ่นโดยการเลือกตั้ง ซึ่งบางคนไม่มีความเข้าใจในหลาย ๆ เรื่อง และกฎหมายบางข้อก็ไม่สอดคล้องกับท้องถิ่น
“เมื่อรัฐต้องการนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า โดยผ่าน อปท. อย่างโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท เมื่อมองเห็นว่าระเบียบส่วนใหญ่ไม่ผ่าน ทำให้เงินไม่ออกไปเสียที เพียงแค่นี้ก็กระทบระบบเศรษฐกิจแล้ว ผมจึงเสนอให้มีการแก้ระเบียบในสมัยเคยเป็นรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการจ้างงานในระดับชุมชนอย่างแท้จริง เงินไม่ตกกับผู้รับเหมารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ไม่เคยเห็นใครโกงแล้วได้ดี ไม่ว่ารัฐบาลไหน ย้ำเลยไม่ว่ารัฐบาลไหน เราจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในการจัดการ ซึ่งต้องใช้เวลา เวลาใครอยู่ในอำนาจบารมี สิ่งไม่ดีเหล่านั้นจะไม่ออกมา แต่เมื่อใดที่อำนาจท่านหมด สิ่งเหล่านั้นจะค่อย ๆ ออกมา” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการปาฐกถาพิเศษ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี แล้ว พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ได้มอบรางวัลให้กับบุคคลต้นแบบ ประจำปี 2560 บุคคลต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตในองค์กรจำนวน 20 รางวัล โดยเป็นบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม และเป็นแบบอย่างให้กับบุคคลในองค์กร
นอกจากนี้ยังมอบรางวัล “รัฐวิสาหกิจที่มีการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการจัดทำแผนงานเสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน” โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลดีเลิศด้านความโปร่งใส ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง ธนาคารออมสิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขณะที่บริษัททีโอที และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รับรางวัลชมเชย
รางวัลด้านความพร้อมรับผิด รางวัลดีเลิศ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลด้านความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน ชนะเลิศ ได้แก่ การประปานครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และรางวัลชมเชย ได่แก่ การนิคมอุตสหกรรมแห่งประเทศไทย รางวัลด้านวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร รางวัลดีเลิศ ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และอีก 3 หน่วยงานได้รางวัลชมเชย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การประปานครหลวง และธนาคารกรุงไทย สุดท้ายรางวัลด้านคุณธรรมในการทำงานในหน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน).-สำนักข่าวไทย

