อสมท 17 ก.ย.- ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมเสนอ ครม.พัฒนาอยุธยา 3 ด้าน เสนอแนวคิดปลูกข้าวให้เร็วขึ้น แก้ปัญหาน้ำหลากจนข้าวเสียหาย เสนอสร้างเขื่อนปลายน้ำคลองบางพระครูและแม่น้ำลพบุรี เพิ่มศักยภาพระบายน้ำ เดินหน้าแนวคิด 209 ตำบล 209 แก้มลิงโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนนี้ว่า จะมีวาระหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำและเรื่องโลจิสติกส์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความโดดเด่น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม และด้านเกษตรกรรม
ผู้ว่าฯ อยุธยา กล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยว ทางจังหวัดจะเสนอเรื่องการเนรมิตอยุธยา ขณะที่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือกันว่าจะพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้อย่างไรให้สอดรับกับการพัฒนามรดกโลก นอกจากนี้ ก็จะเสนอเรื่องการพัฒนาการประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยวด้วย
นายสุจินต์ กล่าวว่า ส่วนด้านอุตสาหกรรมนั้น แม้ว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว เพราะมีอุตสาหกรรม 3 นิคม 2 เขตส่งเสริม แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาคือ เรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาเรื่องโลจิสติกส์ด้วย เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางรางและทางน้ำ ซึ่งต้องส่งเสริมให้การขนส่งเชื่อมต่อกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข็งแรงขึ้น
ผู้ว่าฯ อยุธยา กล่าวว่า ส่วนที่นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังต.บ้านแพน อ.เสนา เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการทุ่งรับน้ำโครงการ“เปิดน้ำเข้านา-ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” โดยจะเปิดประตูระบายน้ำบ้านแพนเข้านา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปโครงการทำนาเหลื่อมปีและโครงการขุดดินแลกน้ำ เป็นการพัฒนาด้านเกษตรกรรม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ที่ทำเกษตรกรรม เป็นการเพาะปลูกข้าวกว่าร้อยละ 90 แต่ก็มีข้อจำกัดว่า 6 แสนกว่าไร่เป็นที่ลุ่มต่ำ เช่น ทุ่งบ้านแพน วังกุ้ง วังกุ่ม เป็นต้น
นายสุจินต์ กล่าวว่า ดังนั้นการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นทำได้ยาก เพราะจะเกิดน้ำท่วมเสมอ จึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนเรื่องการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ปกติจะปลูกข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม ซึ่งไม่สอดรับกับช่วงน้ำหลาก เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีช่วงน้ำหลากประมาณกลางเดือนกันยายน ก็จะทำให้ข้าวที่เพาะปลูกเสียหาย จึงได้หารือกับทางกรมชลประทาน เพื่อปรับเปลี่ยนคือ ต้องปลูกข้าวเร็วขึ้น 45 วัน โดยเริ่มปลูกข้าวกลางเดือนเมษายน และขณะนี้ก็เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จหมดแล้ว ทำให้ความเสียหายน้อยมาก เกษตรกรมีความสุขมากขึ้น เมื่อน้ำหลากมาในช่วงเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ลดความเสียหายของเกษตรกรและภาครัฐได้มาก
ผู้ว่าฯ อยุธยา กล่าวว่า ส่วนน้ำที่หลากมาในขณะนี้ก็กักเก็บไว้ในทุ่ง และให้เกษตรกรทำประมงโดยการปล่อยปลาไปกว่า 10 ล้านตัว ถือเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ น้ำที่กักเก็บไว้ ก็สามารถใช้ในการเพาะปลูกในฤดูต่อไปได้อีกด้วย เรียกว่าทำข้าว 2 รอบ ทำประมง 1 รอบ ถือเป็นการพักนาเพื่อให้คุณภาพของดินดีขึ้น ลดการเผาตอซังข้าว ลดศัตรูพืชในนาได้อีกด้วย และแนวทางนี้ไม่ใช่ส่วนราชการเป็นผู้คิดฝ่ายเดียว แต่เกิดจากการหารือเป็นประชาคมร่วมกับชาวนา ดังนั้น การปรับเวลาการเพาะปลูก ไม่ต้องเสียงบประมาณใด ๆ เพิ่มเติม แต่เป็นการบริหารจัดการเหลื่อมเวลาเท่านั้น
นายสุจินต์ กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีแม่น้ำ 4 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก ทางด้านตะวันออกซึ่งเป็นด้านอุตสาหกรรม ได้งบประมาณ 5 พันล้านบาทจากรัฐบาลสร้างเขื่อนครบ 6 จุดแล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณาในส่วนของคลองป่าสัก เพราะมีความสามารถในการระบายน้ำ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หากระบายเกินมา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำก็จะไหลย้อนกลับขึ้นไปท่วมคลองบางพระครูและแม่น้ำลพบุรี จะทำให้ศักยภาพการระบายน้ำจากสระบุรีและลพบุรีได้ยากขึ้น ก็จะเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ จึงจะสร้างเขื่อนที่ปลายน้ำคลองบางพระครูและปลายแม่น้ำลพบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำในพื้นที่แสนกว่าไร่ และในฤดูแล้งสามารถกักเก็บน้ำช่วยพื้นที่ได้กว่า 4 หมื่น 5 พันไร่รอบเขื่อน ดังนั้น การลงทุน 700 ล้านบาทในการสร้างเขื่อนจุดนี้ ถือว่า คุ้มค่ามาก
ผู้ว่าฯ อยุธยา กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ให้นโยบายเรื่องหลุมขนมครกแก้มลิง ซึ่งทางจังหวัด มีแนวคิด 209 ตำบล 209 แก้มลิงโดยที่ไม่ใช้งบประมาณของรัฐ เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีทั้งสิ้น 209 ตำบล และมีแนวคิดพัฒนาให้ทุกตำบลมีแก้มลิง โดยเน้นไม่ใช้งบประมาณ แต่จะใช้โครงการขุดดินแลกน้ำ โดยการนำดินของรัฐแลกค่าแรงของผู้ประกอบการ มีการประมูลทำตามระเบียบถูกต้อง ซึ่งจะทำให้โครงการแต่ละโครงการจะมีเงินเหลือเข้ารัฐ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้คือ ไม่ต้องตั้งงบประมาณ มีเงินเหลือเข้ารัฐ และได้แก้มลิง ซึ่งแก้มลิงในจังหวัดส่วนหนึ่งคือพื้นที่ที่ขอคืนจากการบุกรุกของประชาชนด้วย
นายสุจินต์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาตลอด และมีแนวคิดให้บ้านทุกหลังในจังหวัดต้องมีถังประจำบ้านเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนน้ำ ภายใต้หลักคิด ทุกคนทุกครัวเรือนต้องช่วยกันและช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้ ทุกโครงการ ทางจังหวัดได้ประสานกับกรมชลประทานมาตลอด โดยกรมชลประทานจะขุดแม่น้ำสายใหม่ เรียกว่า บางบาลนอนไทร เพื่อให้การระบายน้ำมีศักยภาพเท่ากับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะทำให้อยุธยาและภาคกลางปลอดภัยจากน้ำท่วม เชื่อว่า ใน 3 ปีข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย