ระยอง 13 ก.ย. – ญี่ปุ่นระบุสนใจร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมกับไทยในอีอีซีและพื้นที่อื่น มุ่งหวังให้ไทยเป็น gateway หรือประตูของญี่ปุ่นที่จะออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งการค้า คมนาคม และเทคโนโลยี และเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากร
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงภายหลังนำคณะนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) พร้อมคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 คน ลงพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า การเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน ของคณะรัฐมนตรีเมติ และนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งนี้ รัฐบาลใช้โอกาสนี้นำเสนอข้อมูลนโยบายสำคัญการปรับเปลี่ยนประเทศไทยตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบและการสัมมนา Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนญี่ปุ่น และการเดินมาเยือนของนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก
ทั้งนี้ นายเซโกะ ยังระบุด้วยว่า จากนี้ไปนักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งโครงการอีอีซีและการลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ โดยทางญี่ปุ่นสนใจที่จะร่วมมือกับไทยขับเคลื่อนสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามแนวทาง Connected Industry ที่ญี่ปุ่นมีความชำนาญ และมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็น gateway หรือประตูของญี่ปุ่นที่จะออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียนทั้งการค้า การคมนาคม และเทคโนโลยี และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากร
นอกจากนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือสำนักงานอีอีซีจัดทำยุทธศาสตร์หรือโรดแมพให้ชัดเจน โดยเน้นตามอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 พร้อมจัดลำดับความสำคัญ และหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้สำนักงานอีอีซี ทำงานร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยมีองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทร กรุงเทพฯ และหอการค้าญี่ปุ่นเป็นจุดศูนย์ความร่วมมือหรือ contact point แก่นักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนเพิ่มในไทยและที่ต้องการเข้ามาลงทุนใหม่
นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า รัฐมนตรีเมติย้ำอย่างต่อเนื่องถึงนโยบาย Connected Industries พร้อมระบุว่ากิจการของญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย เช่น โรงงานต่าง ๆ จำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อโดยจะมีไทยเป็นฮับเชื่อมต่อกับโรงงานอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียน และขณะนี้สำนักงานอีอีซี อยู่ระหว่างส่งทีมงานทำงานร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้า เพื่อสอบถามความคาดหวังและความเห็นของนักลงทุนญี่ปุ่น
พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นและหลายชาติให้ความสนใจโครงการลงทุนของท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 570 คน นับเป็นคณะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งทางท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้นำเสนอความได้เปรียบเชิงพื้นที่และจุดที่ตั้งท่าอากาศยานและโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาและการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับท่าอุตสาหกรรมอากาศยานในภูมิภาคนี้ การจะเกิดขึ้นของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมถึงความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นต่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานอู่ตะเภา และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะดำเนินการพัฒนาตามแผนการพัฒนาที่ได้วางไว้ที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองการบินย่านนี้. -สำนักข่าวไทย