ตลท. 13 ก.ย. – ปลัดคลังเผยเตรียมเสนอรมว.คลังพิจารณาแพคเก็จส่งเสริมการออมระดับชาติ ฝังดีเอ็นเออดออมประหยัด เพื่ออนาคตให้คนไทยทุกคน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา “เตรียมความพร้อมสู่ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมความท้าทายของสังคมสูงวัย” ว่า ภายในเดือนนี้เตรียมจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแพคเก็จมาตรการส่งเสริมการออมระดับชาติ ประกอบด้วย 4 มาตรการ เพื่อกระตุ้นประชาชนรู้จักการออมสำหรับวัยเกษียณ
สำหรับมาตรการแรก ยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนให้เกิดวินัยในการออม การลงทุน โดยมีเป้าหมายฝั่งเป็นดีเอ็นเอให้คนไทยทุกคนอดออมประหยัดเพื่ออนาคต ซึ่งแผนการให้ความรู้ดังกล่าวจะต้องเหมาะสมกับประชาชนแต่ละวัย อาชีพ เช่น กลุ่มวัยรุ่น ผู้สูงอายุ คนทำงาน เกษตรกร หรือผู้ที่ตกงาน ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังเร่งดำเนินการ
มาตรการที่ 2 เสิรมความแข็งแกร่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน ถือเป็นสถาบันการออมที่เป็นเสาหลักของประเทศ โดยประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเสริมความแข็งแกร่งจัดระบบบัญชี ตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ เพราะใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มาตรการที่ 3 การออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ ๆ และการมีมาตรการทางการเงินการคลัง เพื่อให้ประชาชนลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย โดยกระทรวงการคลังจะให้สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต เป็นผู้แนะนำการออมรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เพื่อกระตุ้นการออมระยะยาว หากจำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีจูงใจ กระทรวงการคลังพร้อมพิจารณา ขณะเดียวกันกำลังพิจารณามาตรการเพื่อลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของประชาชนเหมือนเช่นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมการให้วงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
มาตรการที่ 4 การเพิ่มระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นการออมภาคบังคับสำหรับแรงงาน โดยแรงงานจ่ายเงินออมอัตราหนึ่งและนายจ้างสมทบอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ปี 2561 ระยะแรกเริ่มบริษัทขนาดใหญ่ก่อนขยายสู่ทุกบริษัทในระยะเวลา 7 ปี ทำให้มีสมาชิกประมาณ 11 ล้านคน เงินกองทุนถึง 1,700 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มกฎหมายของกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้สอดรับสังคมผู้สูงอายุ หากรัฐบาลดำเนินทั้ง 4 มาตรการสำเร็จจะทำให้ประเทศมีฐานเงินออมมากขึ้น เพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากถึง 600,000 ล้านบาทในช่วงเวลา 10-15 ปีข้างหน้า
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังยังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างภาษี โดยจะเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความมั่งคั่ง จากปัจจุบันกระทรวงการคลังเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินเพียงร้อยละ 1 จะขยับเป็นร้อยละ 5 และ 10 ในอนาคต .-สำนักข่าวไทย