กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – เจโทรแนะไทยพัฒนาบุคลากร กระทรวงพาณิชย์พร้อมอำนวยความสะดวกการค้าและเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนในกลุ่มประเทศอาเซียน
กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย จัดสัมมนา Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries เพื่อนำเสนอโอกาสความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชน
นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมาก ที่ผ่านมาเจโทร จัดงานซิมโปเซียมและเชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเยือนที่กรุงโตเกียว ได้รับความสนใจมีนักธุรกิจร่วมงาน 1,000 คน และงานวันนี้ก็เช่นกันนักธุรกิจญี่ปุ่นให้ความสนใจมากในการจัดงานเนื่องในโอกาสที่ปีนี้ครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น ที่ผ่านมานักธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนในไทยคิดเป็นมูลค่า 71,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย และมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยถึง 5,000 บริษัท มากที่สุดในโลก แต่ขณะนี้ไทยอยู่ในจุดเปลี่ยน จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง โดยมีอัตราการเกิดต่ำและมีสัดส่วนประชากรที่เป็นผู้สูงวัยมากขึ้น ทำให้ไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ในสายตาญี่ปุ่นประเทศเวียดนามผงาดขึ้นมา ซึ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นเห็นถึงความคลุมเครือที่เกิดขึ้น และลดการลงทุนเซ็คเตอร์หลักในไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นเห็นว่าจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น และขณะนี้อยู่ระหว่างทางแยกที่สำคัญ ขณะที่รัฐบาลไทยออกนโยบายประเทศไทย 4.0 และมีโครการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางการส่งออกสำคัญไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น นักลงทุนควรที่จะต้องย้ายการผลิตสินค้าทั่วไปไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไทยควรเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูง แต่จะทำได้หรือไม่ จะมีปัญหาอะไรนั้น เรื่องที่จะต้องทำ เช่น ต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งทางบริษัทญี่ปุ่นในไทยแจ้งเจโทรว่า กิจการที่ลงทุนในไทยมักมีปัญหาเรื่องการจ้างบุคลากร โดยไทยประสบปัญหานี้เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ไทยจะต้องเดินหน้าเสริมสร้างด้านบุคลากร ซึ่งแน่นอนว่าระยะสั้นต่างชาติเข้ามาให้การช่วยบ่มเพาะในไทยได้ โดยอาศัยศูนย์วิจัยและพัฒนาในอีอีซี ทั้งนี้ ในส่วนของนักธุรกิจญี่ปุ่นต้องการให้ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ซึ่งไทยจะต้องเชื่อมโยงแหลมฉบับไปยังท่าต่าง ๆ และด้านพิธีการศุลกากร จะต้องมีความสะดวก โดยต้องการเห็นรูปแบบเปเปอร์เลสหรือระบบไร้กระดาษ ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาเหล่านี้่
นายอิชิเกะ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นจะสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยร่วมกันระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่น เช่น คอนเน็ตเต็ดอินดสตรี ซึ่งจะเริ่มนำร่องจาก 4 บริษัท ที่ได้มีข้อตกลงกันแล้วในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยจะเป็นโครงการนำร่องและจะเป็นกุญแจสำคัญกำหนดอนาคตที่สดใสและการจัดการจับคู่ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น จะมีมากขึ้น ด้านการพัฒนาบุคลากร ทางญี่ปุ่น จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างบุคลากรในไทย สุดท้ายเพื่อให้คณะกรรมการอีอีซี ทำงานดียิ่งขึ้น ทางญี่ปุ่นจะตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาอีอีซี ในเจซีซี กรุงเทพ ทั้งนี้ อยากให้ไทยรับฟังคำร้องขอของนักธุรกิจญี่ปุ่นเรื่องการให้คำมั่นสัญญาที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลไทยและหวังว่าการสัมมนาวันนี้จะเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งการจับคู่ธุรกิจจะช่วยสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่นายรัฐมนตรีแจ้งนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความผันผวน สามารถก้าวทันโลก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้ ประเทศไทยและญี่ปุ่นตกลงร่วมกันดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.การร่วมกันขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งประเทศไทยกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นหัวจักรใหม่ทางเศรษฐกิจของไทย 2.ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันพัฒนาเอสเอ็มอี โดยมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อสนับสนุนโดยใช้จุดเด่นของไทย เพื่อร่วมกันเข้าถึงตลาดใหม่ในภูมิภาคนอกจากประเทศของตัวเอง ตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 และคอนเน็ตเต็ดอินดัสตรี ซึ่งจะนำโอกาสร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศอย่างมากและก้าวออกไปสู่ตลาด CLMV และออกสู่ตลาดโลกต่อไป
3. ร่วมกันพัฒนาอีอีซี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายประเทศ ซึ่งคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาใหญ่ที่สุด ซึ่งจะมีโอกาสร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมสุขภาพ การดูแลผู้สูงวัย รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์ และยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โดยการลงทุนโครงการหลัก 4 โครงการ จะเริ่มรูปธรรมปีหน้า โดยการลงทุนในอีอีซี จะมีวงเงินรวม 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปีนับจากนี้ไป โดยร้อยละ 80 เป็นการลงทุนจากภาคเอกชน ที่เหลือร้อยละ 20 เป็นการลงทุนโดยภาครัฐภายใต้รูปแบบพีพีพีแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นยังจะร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมถึงงานวิจัยอีกด้วย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตามที่คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาไทยรวม 429 บริษัท รวม 588 ราย และสื่อมวลชน 22 ราย เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในโอกาสครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์สองประเทศในวันที่ 26 กันยายนนี้ และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือเจเทปา ที่จะครบรอบ 10 ปี วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน สำหรับการเยือนของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้แนบแน่น ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงการอำนวยความสะดวกการค้า จึงปรับปรุงระเบียบการค้าต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจ และจะเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจต่อไป สำหรับช่วงการสัมมนาวันนี้นักธุรกิจไทยและญี่ปุ่น 1,200 ราย จะได้พบปะหารือกันแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันและมิตรภาพที่ยาวนาน กระทรวงพาณิชย์พร้อมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการค้า การลงทุนในกลุ่มประเทศในอาเซียนต่อไป.-สำนักข่าวไทย