อยุธยา 12 ก.ย. – จากนี้ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุดของปี กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาแล้ว โดยมั่นใจว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เกี่ยวข้าวเป็นปฐมฤกษ์ในลุ่มผักไห่ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็น 1 ใน 12 พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานส่งน้ำให้ปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ก่อนฝนมา 1 เดือน พื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมามี 1.15 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วร้อยละ 83 คาดว่าจะเก็บเกี่ยวทั้งหมดได้ภายในกลางเดือนนี้ ชาวนาต่างดีใจที่ปีนี้ผลผลิตข้าวไม่เสียหายจากน้ำท่วม
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงฝนชุกที่สุดของปี เขื่อนเจ้าพระยาจะรับน้ำหลากจากนครสวรรค์ ใช้เขื่อนเป็นตัวหน่วงน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเหนือได้มากขึ้น ส่วนการนำน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำหลากจะทำอย่างรอบคอบ
การนำน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งนี้มีประโยชน์หลายประการ ได้แก่ สามารถลดปริมาณน้ำเหนือ โดยรับได้ถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตั้งแต่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมอบหมายให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหลายชนิดมาปล่อยเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำประมงสร้างรายได้ ที่ไม่ได้ทำนาปีต่อเนื่อง ท้ายสุดเมื่อน้ำลด ผืนดินก็จะชุ่มชื้น พร้อมสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่.-สำนักข่าวไทย





