พระนครศรีอยุธยา 15 ก.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 15-20 ก.ค. อย่างใกล้ชิด ตามที่ สทนช. ประกาศเตือนมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะ 15-18 ก.ค. ซึ่งกรมอุตุฯ คาดจะมีพื้นที่เสี่ยงมากถึง 71 จังหวัด ทั้งยังย้ำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมี 3 ปัจจัยที่จะทำให้สภาพอากาศแปรปรวน
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากระหว่างวันที่ 15 – 18 กรกฎาคม ทั้งยังระบุว่า เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนถึง 3 ปัจจัย ได้แก่ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนในระยะนี้ได้แก่ มรสุมมีกำลังแรง ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนจึงต้องระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
ทั้งนี้ จะเรียกกรมชลประทานประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการจัดทำ “แผนที่น้ำ” ทั่วประเทศตามที่ได้สั่งการไปเนื่องจากการจะบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ต้องมีแผนที่เส้นทางน้ำทั้งแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงเส้นทางออกสู่ทะเล รวมถึงคลองส่งน้ำที่จะเข้าสู่แปลงของเกษตรกร
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน (SWOC) เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ รวมถึงติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 15 – 20 กรกฎาคม 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
พร้อมกันนี้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน พร้อมเตรียมแผนรับมือน้ำหลาก ด้วยการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมยึดปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 อย่างเคร่งครัด.- 512 – สำนักข่าวไทย