กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – จีพีเอสซีร่วมหารือนักธุรกิจญี่ปุ่นร่วมลงทุนโซลาร์และโรงงานแบตเตอรี่สำหรับไฟฟ้า คุยธุรกิจขยายตัวแม้จะไม่ร่วมเสนอโครงการเอสพีพีไฮบิด
นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี กล่าวว่า บริษัทจะไม่เข้าร่วมเสนอราคาโครงการเอสพีพีไฮบิด 300 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อ ราคาอุดหนุน FIT แบบแข่งขัน 3.66 บาท/หน่วย เนื่องจากเห็นว่าผลตอบแทนไม่เหมาะสมสำหรับผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเติบโตตามแผนงานที่กำหนดไว้ที่จะมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1,900 เมะะวัตต์ในปี 2562 จากที่สิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ โดยการเติบโตของรายได้จะมีจากกำลังผลิตที่ขยายตัวไปพร้อมกับกลุ่ม ปตท. ที่กำลังขยายงานการลงทุนในอาเซียน และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เช่น แบตเตอรี่สำหรับเพื่อสำรองไฟฟ้า (ENERGY STORAGE )
นายเติมชัย กล่าวด้วยว่า บริษัทยังมองหาธุรกิจใหม่ เช่น กำลังพูดคุยกับ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังค้าบ้านผลิตไฟฟ้า (โซลาร์รูฟท็อป ) อย่างไรก็ตาม เห็นว่าอัตรารับซื้อที่รัฐบาลกำลังจะประกาศใหม่ราคาต่ำกว่า 2.60 บาท/หน่วย เป็นอัตราที่ต่ำเกินไปไม่สอดคล้องสำหรับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มั่นคง เพราะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อให้เกิดความมั่นคงจะต้องดูการสนับสนุนที่ไปพร้อมกับการส่งเสริมการติดตั้งระบบแบตเตอรี กักเก็บพลังงาน โดยควรดูตัวอย่างจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีรูปแบบแม้แตกต่างกัน แต่ก็ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น เนื่องจากทิศทางของโลกจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และใช้แบตเตอรี่เป็นตัวหลักในการสำรองไฟฟ้า ขณะเดียวกันสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ก็ควรให้เร่งออกมาตรฐานผลิตภันฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับแบตเตอรีลิเธียมไออน เพื่อส่งเสริมให้ระบบมั่นคง
“จีพีเอสซีกำลังจะให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปีนี้บนหลังคาโรงงานในกลุ่ม ปตท. 1 แห่งในปีนี้ และในปั๊ม ปตท. 3 แห่ง และขณะนี้กำลังจะขยายไปไปยังบ้านที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์” นายเติมชัย กล่าว
นายเติมชัย ยังกล่าวด้วยว่า ในการที่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนไทย ทางบริษัทได้รับโอกาสหารือเรื่องธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์และการร่วมทุนในธุรกิจแบตเตอรี ที่บริษัทต้องการพันธมิตรที่จะร่วมมือในการหาตลาด โดยจีพีเอสซี เตรียมการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รองรับเอนเนอยีสตอเรจ ซึ่งเสนอค่อคณะกรรมการบริษัทเร็ว ๆ นี้ กำลังผลิตเฟสแรก 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง เงินลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายผลิตในปี 2562 ซึ่งทางจีพีเอสซีมีการตกลงกับเจ้าของสิทธิบัตร คือ บริษัท 24 M Technologies Inc. หรือ 24 M เพื่อรับสิทธิ์ในการทำโรงงานผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสำรองในไทยและในเอเชีย.-สำนักข่าวไทย