นนทบุรี 11 ก.ย. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ระบุอาจให้สินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐของการใช้บัตรสวัสดิการเหลือเพียงร้อยละ 10 กลัวสูงกว่านี้เอกชนรับไม่ไหว คาดได้ข้อสรุปรายการสินค้าที่ผู้มีรายได้ภายในสัปดาห์นี้ เตรียมลงพื้นที่ดูร้านค้าต้นแบบสัปดาห์หน้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตสินค้าที่สนใจป้อนสินค้าให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจ 30 ราย และมีการเสนอรายการสินค้ากว่า 150 รายการ ดังนั้น จึงยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับจำนวนรายการสินค้าที่ผู้มีรายได้น้อยจะสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อได้ แต่คาดว่าจะเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีกว่า 100 รายการ และเพิ่มขึ้นในอนาคต เบื้องต้นอาจจะปรับราคาสินค้าจากเดิมกำหนดไว้สินค้าจะต่ำกว่าท้องตลาดร้อยละ 15-20 แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้ หากต่ำกว่านี้อาจจะไม่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมโครงการ จึงปรับลดราคาสินค้าต่อหน่วยลงเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น
ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวจะเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันและสินค้าที่สนับสนุนการสร้างเสริมอาชีพ โดยกระทรวงพาณิชย์ส่งรายชื่อร้านธงฟ้าประชารัฐที่จะเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 4,500 ราย และภายในสัปดาห์นี้คาดว่าจะครบ 10,000 ราย ซึ่งกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างให้แบงก์รัฐ เช่น กรุงไทย ออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเร่งติดตั้งเครื่อง EDC จะมีระบบบาร์โค้ดของสินค้าที่เชื่อมข้อมูลตรงไปยังกรมบัญชีกลาง ทำให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ว่ามีการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ ขณะเดียวกันสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและกรมการค้าภายในจะเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างทยอยติดตั้งเครื่อง EDC และวันที่ 18 กันยายนนี้กระทรวงพาณิชย์จะลงพื้นที่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อดูความพร้อมร้านต้นแบบและจะรายงานผลเป็นระยะ ซึ่งมั่นใจว่าจะพร้อมให้บริการผู้ถือบัตรวันที่1 ตุลาคมนี้ และเตรียมมาตรการป้องกันทุกด้านไว้แล้วหากผู้ใช้บัตรซื้อสินค้าผิดประเภท ซึ่งจะใช้ระบบบาร์โค้ดและคิวอาร์โค้ดมาใช้อีก จึงเชื่อว่าจะเป็นมาตรการป้องได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลดำเนินโครงการนี้ไประยะหนึ่งจะทำการประเมินผล หากได้รับการตอบรับดีจะพยายามเพิ่มรายการสินค้ากลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอีและกลุ่มสินค้าโอทอปของไทยในทั่วประเทศตามร้านค้าธงฟ้าประชารัฐอีกด้วย
ส่วนกรณีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 600 ราย เข้ามาร่วมเจรจาธุรกิจในประเทศไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดในการจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจและจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความพร้อมในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้มีความก้าวหน้าทุกมิติ เนื่องจากการเดินทางมาครั้งนี้มีความหลากหลายเกือบทุกประเภทธุรกิจ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และกลุ่ม Start Up จึงมั่นใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถจับมือกันพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้สามารถเติบโตไปได้แน่นอน .-สำนักข่าวไทย