กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – ปลัดคลัง วอน ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องนโยบายการคลัง จูงใจนักลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “นโยบายการคลัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลัง 2560” เปิดเผยว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องสอดคล้องไปพร้อมกัน โดยกระทรวงการคลังได้มีนโยบายการคลังผ่านออกมาตรการต่างๆ ไปมากแล้ว ขอความร่วมมือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายการเงินที่ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าแล้ว และที่ผ่านมามีเงินเข้ามาในตลาดไทยตั้งแต่ 60,000 ถึง 100,000 ล้านบาท จึงไม่น่าเป็นห่วงหากลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้เงินเฟ้อเกินเป้า รวมทั้งดอกเบี้ยนโยบายของไทยขณะนี้ยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทความสำคัญมากขึ้น
ส่วนที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลัง ได้มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการทำนโยบายแบบขาดดุล ในปีงบประมาณ 2560 ถึง 390,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนในปีงบประมาณ 2561 ได้เตรียมฉีดเงินลงไปในระบบอีก 450,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ เนื่องจากสถานะทางการคลังไทยมีความแข็งแกร่ง และมีเครดิตที่ดี ประกอบกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะยาว ต้องอาศัยแรงส่งจากการลงทุนของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งพยายามผลักดันสตาร์ทอัพให้อยู่รอดมากขึ้นจากปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเกิดใหม่และอยู่รอดเพียง ร้อยละ 2 เท่านั้น และอาจจะต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วยผลักดัน
นอกจากนี้การฟื้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังให้ดีขึ้น กระทรวงการคลังยังได้สั่งการคลังจังหวัดประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทำมาตรการระดับจังหวัด ช่วยเหลือหรือพัฒนาภาคเศรษฐกิจในจังหวัดให้เข้มแข็ง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกระจายทั่วถึงทั้งประเทศ รวมทั้งให้ประชาชนฐานรากสามารถเลี้ยงชีพได้ ด้วยการลงทะเบียนสวัสดิการรัฐเพื่อรับสวัสดิการช่วยเหลือ และช่วยให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
พร้อมขอให้ภาคเอกชนสะท้อนความต้องการให้กระทรวงการคลังรับทราบเพื่อช่วยให้เกิดการลงทุนมากขึ้น หากกระทรวงการคลังสามารถทำได้จะรีบดำเนินการทันที แต่ยอมรับว่าภาครัฐได้พยายามปรับปรุงและปฏิรูปโดยเฉพาะกฎหมายให้อำนวยความสะดวกต่อการลงทุนมากขึ้นอย่างเต็มที่ อาทิ รัษฎากร อีก 2 เดือนจะปฏิรูปครั้งใหญ่ และมั่นใจว่ารายได้เข้าภาครัฐจากการจัดเก็บภาษีจะไม่ลดลง แต่การจัดเก็บภาษีส่วนอื่นจะลดลงจากผลกระทบจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลต่อการจัดเก็บและฐานภาษี และกำลังหาผู้มีความสามารถเพื่อมาวางแผนการจัดเก็บภาษีและคำนวณฐานภาษีให้สอดคล้อง เช่น ภาษีน้ำมัน ที่รัฐเคยเก็บเป็นหลัก อาจจะน้อยลง เพราะประชาชนใช้น้ำมันน้อยลงจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเข้ามาแทน
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังพยายามเพิ่มรายได้จากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ประเทศมีรายได้มากกว่า ร้อยละ 10 ขณะที่รายได้ประทศจากการจัดเก็บภาษีมีสัดส่วนถึง ร้อยละ 90 ภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30 เหลือ 20 แต่ไม่คุ้มกับการลดตามความต้องการของนักลงทุน และยังไม่ผู้เลี่ยงภาษีอยู่ จึงต้องนำระบบบัญชีเดียวเข้ามาช่วยบังคับให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ และจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการยื่นขอสินเชื่อ รวมทั้งนโยบาย National E-Payment ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนยังไม่ตอบรับเท่าที่ควร โดยกระทรวงการคลังจะเดินหน้าโครงการต่อไปเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น – สำนักข่าวไทย