กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – กพท. ออก 3 มาตรการ เยียวยา 12 สายการบิน ถูกระงับบินระหว่างประเทศ เชื่อว่า ICAO มาตรวจความปลอดภัยภายในเดือนกันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกเอกสารชี้แจงประเด็นที่ ภายหลังจากวันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นวันแรกที่สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Recertification) จะต้องทำการหยุดให้บริการ เนื่องจาก กพท. ได้ยื่นหนังสือร้องขอให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เข้ามาตรวจสอบ ICAO Coordinated Validation Mission (ICVM) เพื่อปลดธงแดง ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งคาดว่า ICAO จะเข้ามาตรวจสอบ ICVM ช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน 2560
โดยสายการบินที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ 12 สายการบิน ได้แก่
1. บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด2. บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด3. บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด4. บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด5. บริษัท เจ็ท เอเชีย แอร์เวย์ จำกัด6. บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด7. บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด8. บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ จำกัด9. บริษัท วีไอพี เจ็ทส์ จำกัด10. บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด11. บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด12. บริษัท สกาย วิว แอร์เวย์ จำกัด
และมีสายการบินที่ผ่านการตรวจสอบ Recertification และสามารถให้บริการได้ตามปกติขณะนี้ มีทั้งสิ้น 9 ราย ได้แก่
1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)3. บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด4. บริษัท ไทย แอร์เอเชียเอ็กซ์ จำกัด5. บริษัทสายการบินนกสกู๊ต จำกัด6. บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)7. บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด8. บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด9. บริษัท สบายดี แอร์เวย์ส จำกัด
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน ครั้งที่ 6/2560 มีมติให้ กพท. ให้ความช่วยเหลือเยียวยาชั่วคราวแก่ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการหยุดทำการบินภายหลังการยื่น ICVM ไป จนกว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ หรือได้รับแจ้งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบรับรองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2561
โดยกำหนดเป็นหลักการให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ สามารถยื่นคำขอผ่าน กพท. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศของผู้ดำเนินการเดินอากาศแต่ละราย ภายใต้มาตรการ คือ
1.ให้เพิ่มการจัดสรรสิทธิในเส้นทางบินภายในประเทศ ในการให้บริการแบบประจำมีกำหนดภายในประเทศไม่เกิน 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ต่อเส้นทาง 2.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศเฉพาะแบบไม่ประจำสามารถทำการจำหน่ายบัตรโดยสารโดยตรงให้แก่สาธารณชนเป็นรายบุคคล
3.กพท. จะขอความร่วมมือไปยังกรมท่าอากาศยานและการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กองทัพเรือ เพื่อพิจารณาให้ส่วนลดค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (parking fee) เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการที่ต้องหยุดทำการบิน และป้องกันปัญหาการจอดอากาศยานทิ้งไว้ที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ กพท. เชื่อว่า มาตรการเหล่านี้ว่า จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าจะได้รับการตรวจ Recertification เสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถตรวจครบทุกสายการบินภายในเดือนมกราคม 2561 ส่วนผู้ประกอบการแบบเฮลิคอปเตอร์ที่ให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศนั้น กพท. ได้ดำเนินการชี้แจงผู้ประกอบการให้ทราบถึงผลกระทบไปก่อนหน้านี้แล้ว และผู้ประกอบการได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้ จึงไม่ได้อยู่ในแผนการช่วยเหลือเยียวยานี้ – สำนักข่าวไทย