แจ้งวัฒนะ 30 ส.ค.-เครือข่ายผู้ป่วยยื่นหนังสือผ่าน สปสช.ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศ ห่วงมีปัญหาเชิงกฎหมาย ทำชีวิตผู้ป่วย กว่า 4 แสนแขวนบนเส้นด้ายหลัง ก.ย.นี้
เช้าวันนี้ (30 ส.ค.)ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นำโดย นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยและนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายอีกกว่า 30 คน เดินทางมาที่ สปสช.เพื่อยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขธิการ สปสช. ขอให้ทำความชัดเจนทางกฎหมายของการบริหารจัดการจัดซื้อยารวม 7 ประเภท ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ สปสช.ดำเนินการต่อไปก่อน
นายธนพลธ์ แสดงความกังวลต่อมติของบอร์ด สปสช.เสียงข้างที่เป็นผลมาจากการหารือร่วมระหว่างรองนายกฯวิษณุ และ รมว.สาธารณสุข,สธ.,กรมบัญชีกลาง ,สปสช. และ สตง.เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า การจัดซื้อยาร่วม 7 ประเภทดังกล่าว โดย รพ.ราชวิถี ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่เดือนต.ค.2560 เป็นต้นไป) จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หากมีเหตุขัดข้องหรือดำเนินการไม่ทัน จะเกิดการขาดแคลนยาทั้งประเทศ ซึ่งหมายถึงชีวิตผู้ป่วยเกือบ 400,000 คนที่ต้องอยู่บนเส้นด้ายนี้ ขณะเดียวกันยังไม่มีความชัดเจนในแง่กฎหมาย ที่ สตง.เสนอให้ขึ้นทะเบียน รพ.ราชวิถีเป็น ‘เครือข่ายหน่วยบริการ’ จัดซื้อยาแทน แต่ตามมาตรา 3ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุ ให้เป็นการรวมตัวของหน่วยบริการกันเอง ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ทุก รพ. ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องมาเป็น ‘เครือข่ายหน่วยบริการ’ อีกทั้งหน้าที่ของเครือข่ายหน่วยบริการตามกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดเรื่องการจัดซื้อยาไม่เพียงเท่านั้น สตง.ยังเสนอแนะให้ สปสช.ทำผิดจากที่เคยเสนอแนะมาคือการจ่ายเงินไปก่อนที่จะเกิดบริการจริง ซึ่ง สตง.เคยชี้ว่า ทำไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับใหม่ เรื่องการซื้อแทนกันที่ต้องรอการออกกฎกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.ซึ่งต้องใช้เวลา หากเกิดปัญหาจะเกิดการขาดแคลนยาทั้งประเทศ นั่นหมายถึงชีวิตผู้ป่วยเกือบ 400,000 คนที่ต้องอยู่บนเส้นด้ายนี้
“ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง หากไม่ได้รับการล้างไตใน 3 วันจะเกิดภาวะน้ำท่วมปอดและเสียชีวิตได้ปัจจุบันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องประมาณ 2.5 หมื่นคน ถามว่ารพ.จะรับไหวหรือไม่ รวมทั้งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเปลี่ยน เป็นการฟอกไตแทน ทั้งเครื่องฟอกไต บุคลากรทางการแพทย์และงบฯขณะนี้ ถามว่าเพียงพอต่อการรองรับหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายผู้ป่วยอาจต้องร่วมจ่ายอีก นอกจากนี้ผู้ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยังต้องรับยาอีริโทรโพอิติน (erythropoietin) ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง หากระบบขาดยา ไม่มียาให้กับผู้ป่วยแล้วเสียชีวิต ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ อยากฝากถึงผู้ใหญ่ ทุกชีวิตก็มีค่า จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร็ว” ประธานชมรมเพื่อนโรคไตกล่าว
ด้านนายอนันต์ กล่าวว่า เดือนก.ค.ปลัดฯสาธารณสุข ยอมรับว่าไม่มีความพร้อม ผ่านมาไม่ถึงเดือนจะให้เชื่อว่า รพ.ราชวิถีมีความพร้อมได้อย่างไร อีกทั้งถ้าจะให้ รพ.ราชวิถีดำเนินการได้ ต้องเตรียมการสร้างระบบจัดสรรกำลังคนใหม่ ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องมาเสี่ยงขาดยาโดยไม่มีเหตุอันควร จึงไม่สมเหตุสมผลเลยที่ไม่ให้ สปสช.ดำเนินการจัดซื้อยารวม เหมือนเช่นที่ทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี
“เมื่อไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่กฎหมายและศักยภาพ-ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยา ขอให้ รองนายกฯวิษณุ และ รมว.สาธารณสุขทำความชัดเจนทางกฎหมายด้วยการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ไม่ใช่เอาความเห็น สตง.ที่เป็นหน่วยตรวจสอบมาตีความกฎหมายว่าทำ ได้หรือทำไม่ได้ ระหว่างนี้ ให้เสนอ ครม.เห็นชอบให้ สปสช.ดำเนิน การไปดังที่เคยเป็นมาผ่าน คณะกรรมการฯที่มีการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ สปสช.สามารถสร้างกลไกเพื่อการบริหารกองทุนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศที่ต้องรับยาต้านไวรัสมีประมาณ 3 แสนคน คนเหล่านี้ต้องกินยาทุกวัน แม้ผู้ติดเชื้อจะขาดยาได้แต่หากต้องเริ่มต้นกินยาต้านไวรัสใหม่อาจทำให้ค่ารักษาเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูว่าสามารถกินยาต้านไวรัสสูตรเดิมได้หรือไม่ มีการดื้อยาแล้วหรือยังและหากต้องเปลี่ยน ยาต้านไวรัสสูตรใหม่ หมายถึงค่ายาที่เพิ่มขึ้น โดยยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานราคาอยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อเดือน แต่ยาต้านไวรัสสูตรดื้อยามีสูงถึง 8,000-10,000 บาท ภาระตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ .-สำนักข่าวไทย