กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – กสิกรไทยคาดเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.20-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาผลการประชุมเฟดถึงนโยบายการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยแนวรับที่ 1,555-1,565 จุด
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-25 ส.ค.) เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ จากนักลงทุน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้สถาบันการเงินติดตามการทำธุรกรรมเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งเป็นทิศทางสอดคล้องกับแรงขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก โดยวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาเงินบาทอยู่ที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 33.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
สำหรับสัปดาห์หน้า (28 ส.ค.-1 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.20-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องติดตามการตอบรับของตลาดช่วงต้นสัปดาห์ต่อสัญญาณจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ข้อมูลรายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล เดือนกรกฎาคม ดัชนีราคาบ้านเดือนมิถุนายน และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2/2560 (ประกาศครั้งที่ 2) นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มที่ตัวเลข PMI ภาคการผลิตของประเทศชั้นนำอื่น ๆ ด้วย
ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,575.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณร้อยละ 7.22 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,682.43 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 535.47 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.26 จากสัปดาห์ก่อน สัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 2/2560 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมของสหรัฐ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี ISM ภาคการผลิตสำหรับเดือนสิงหาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศสำคัญอื่น ๆ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมของกลุ่มยูโร, ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนสิงหาคมของจีน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น.-สำนักข่าวไทย