เชียงใหม่ 25 ส.ค. – ท่ามกลางเส้นทางที่ยากลำบากที่ต้องข้ามน้ำ ข้ามดอย ลุยโคลนขึ้นไปสอนเด็กๆ และผู้ไม่รู้หนังสือในถิ่นทุรกันดารของครูดอยหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นเหมือนแนวหน้าจัดการศึกษาไทย ท่ามกลางความขาดแคลนและค่าตอบแทนที่ไม่มากนัก หากเทียบกับภารกิจที่มากกว่าการสอนหนังสือ ซึ่งต้องอาศัยพลังใจและความมุ่งมั่นอย่างมากในการทำหน้าที่ ติดตามรายงานชุดครูดอย..ครูไทยพันธุ์วิบาก วันนี้เสนอเป็นตอนสุดท้าย
เส้นทางหน้าฝนบนดอยสูงที่บรรดาครูดอยต้องฝ่าความยากลำบากขึ้นไปดูแลเด็กๆ ครูจ๊อกและครูแหม่ม ผ่านเส้นทางชีวิตครูดอยมากว่า 10 ปี ขึ้นลงดอยมาหลายร้อยเที่ยว เพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านแม่ระมีดหลวง ชุมชนเล็กๆ ของชาวกะเหรี่ยง กลางหุบเขา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ค่อยๆ สร้างทั้งอาคารและการยอมรับจากชุมชน จนมีเด็กมาเรียนเกือบ 50 คน และสอนชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือจนอ่านออกเขียนภาษาไทยได้
ไม่ได้สอนแค่ให้อ่านออกเขียนได้ แต่ครูทั้งสองคนดูแลเด็กๆ เหมือนลูกหลาน สอนการใช้ชีวิตให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ทำอาหารกลางวันกันเอง จัดฐานฝึกอาชีพทำขนม เย็บปักถักร้อย เผาถ่าน ทำการเกษตร สอดแทรกคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ และหล่อหลอมความเป็นไทยให้เด็กๆ ด้วย
ยังไม่รวมภารกิจครูดอยที่คอยให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับชุมชนด้านสาธารณสุข และอนุรักษ์ป่า บนความขาดแคลนและลำบาก อย่างบ้านพักครูที่นี่เป็นเพิงพักเล็กๆ มุงสังกะสี หน้าฝนแบบนี้ต้องกางเต็นท์นอนในบ้าน
ครูแหม่มและครูจ๊อก ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รางวัลที่เชิดชูครูผู้เสียสละในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาแล้วทั้งสองคน ในปี 2554 และ 2556 เป็นพลังใจในการทำหน้าที่ครู เช่นเดียวกับครูดอยอีกนับพันคนที่อยู่ตามศูนย์การเรียนชุมชนแม่ฟ้าหลวง ในถิ่นทุรกันดารกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่แนวหน้าให้ความรู้เด็กๆ และชุมชนก่อนการศึกษาในระบบจะเข้าถึงในฐานะครูดอย ที่ได้ชื่อว่าครูไทยพันธุ์วิบาก. – สำนักข่าวไทย