เชียงใหม่ 24 ส.ค. – สภาพถนนบนดอยสูงในหน้าฝนแบบนี้ กลายเป็นเส้นทางที่ยากลำบากสำหรับครูดอย ที่จะขึ้นไปสอนเด็กๆ ชาวเขา โดยเฉพาะครูผู้หญิงหลายคนถึงกับถอดใจ แต่สำหรับครูแก้ม ครูสาวดีกรีปริญญาโท และสอบคัดเลือกเป็นพนักงานราชการครู กศน. ได้เป็นอันดับ 1 ของเชียงใหม่ เธอกลับเลือกเป็นครูดอยที่อมก๋อย พื้นที่ทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้เด็กบนดอย แม้ค่าตอบแทนจะน้อยมากหากเทียบกับภารกิจของครูดอย ติดตามในรายงานชุด ชีวิตครูดอย..ครูไทยพันธุ์วิบาก เสนอเป็นตอนที่ 2
เส้นทางตามดอยสูงในหน้าฝน บนทางดินที่สูงชัน บางช่วงแทบจะไม่เหลือสภาพของถนน แต่ครูดอย กศน.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ต้องบิดมอเตอร์ไซค์เกาะกลุ่มกันขึ้นไปสอนหนังสือให้เด็กๆ บนดอย ความยากลำบากทำให้ครูอาสามัครใหม่ถอดใจไปแล้วหลายคน
แต่สำหรับครูแก้ม ที่เพิ่งสอบเป็นพนักงานราชการครูดอยของ กศน.อมก๋อย ยังเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ขี่มอเตอร์ไซค์เกาะกลุ่มไปกับครูดอยรุ่นพี่ที่จะไปส่งเธอที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง หรือ ศศช.ยองแหละ ห่างจากตัวอำเภอไปราว 30 กิโลเมตร เส้นทางที่ยากลำบากในหน้าฝนหลีกไม่พ้นที่ครูแก้มจะขี่มอเตอร์ไซค์ล้มบ้าง
เมื่อต้องเจอถนนที่เละเป็นโคลน มอเตอร์ไซค์ของครูหลายคน รวมทั้งของครูแก้ม ติดอยู่ในโคลนเกือบครึ่งคัน โชคดีที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านและ ศศช.แม่ระมีดหลวง จึงขอแรงนักเรียนมาช่วยทั้งดันทั้งลากจนหลุดจากถนนโคลนมาได้
รอยยิ้มของเด็กๆ ชาวเขา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูแก้มตัดสินใจเป็นครูดอย แม้จะจบปริญญาโทด้านโลจิสติกส์ และสอบพนักงานราชการครู กศน.เชียงใหม่ ที่เปิดสอบทั่วประเทศเป็นลำดับที่ 1 แต่เธอกลับเลือกลงอมก๋อย พื้นที่ทุรกันดารและมีเด็กด้อยโอกาสมากที่สุด
ครูเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่บนดอย 22 วัน พัก 8 วัน อย่าง กศน.อมก๋อย ทั้งอำเภอมีข้าราชการ 3 คน อีกกว่า 200 คน เป็นครูอาสาสมัครรายปี รับ 15,000 บาท และพนักงานราชการต่อสัญญาทุก 4 ปี เงินเดือน 18,000-23,000 บาท ไม่มีเบี้ยกันดาร ค่ากิน น้ำมัน ซ่อมรถ เหมารวม ซึ่งไม่มากนักหากเทียบกับความยากลำบากและภารกิจมากมายในการให้ความรู้และปลูกฝังความเป็นไทยบนดอยสูงที่ห่างไกลและทุรกันดาร. – สำนักข่าวไทย