ชัยนาท 24 ส.ค.-จากนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุดของปี กรมชลประทานวางแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาแล้ว โดยมั่นใจว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างแน่นอน
นาในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งกรมชลประทานส่งน้ำให้ปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ก่อนฝนมา ขณะนี้บางส่วนเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาเหล่านี้ อยู่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมารวม 1,150,000 ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้เก็บเกี่ยวให้หมดภายในต้นเดือนกันยายน จากนั้นจะใช้เป็นที่เก็บน้ำหลาก ซึ่งจะเก็บได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
จากนี้จนถึงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงฝนชุกที่สุดของปี รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เมื่อผันน้ำไปเก็บไว้ในทุ่งแล้ว ก็จะใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ โดยทดน้ำหน้าเขื่อนให้สูง เพื่อให้น้ำไหลเข้าแม่น้ำคูคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแบ่งปริมาณน้ำออกไป และควบคุมการระบายน้ำให้เหมาะสม พยายามไม่ให้เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาไม่เพียงทำเฉพาะการระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ยังต้องคำนวณน้ำที่จะเก็บกักในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ให้เพียงพอไว้ใช้ในหน้าแล้งและฤดูกาลเพาะปลูกปีต่อไปอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย