กทม. 23 ส.ค. – องค์คณะผู้พิพากษาคดีจำนำข้าวที่มีอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย
องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย
1. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาเจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวของอดีตนายกยิ่งลักษณ์ และเป็นองค์คณะคดีทุจริตข้าวจีทูจี ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก
2. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี และเป็นองค์คณะคดียิ่งลักษณ์
3.นายธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา
4.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา องค์คณะในคดี “บุญทรง” และ องค์คณะคดี “ยิ่งลักษณ์”
5.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาองค์คณะคดี “ยิ่งลักษณ์”
6.นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ องค์คณะคดี “ยิ่งลักษณ์”
7.นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา
8.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกาองค์คณะคดี “บุญทรง” องค์คณะคดี “ยิ่งลักษณ์”
9.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
ในจำนวนองค์คณะ 9 คนของผู้พิพากษาทั้งสองคดีคือ ในคดีจำนำข้าวของของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย มีผู้พิพากษา 5 คน ที่ตัดสินทั้งสองคดี คือ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา โดยทั้ง 5 เป็นองค์คณะทั้งในคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และคดีทุจริตข้าวจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ โดยคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท
ขั้นตอนในการพิจารณาในวันที่ 25 สิงหาคม ผู้พิพากษาองค์คณะทั้ง 9 คน ต้องทำคำพิพากษาส่วนตนมาลงมติกันว่าเเต่ละคนมีความเห็นในทางคดีอย่างไร ก่อนจะทำเป็นคำพิพากษากลางออกมา
นอกจากคดีอาญาที่จะพิพากษาในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมนี้ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีคดีในศาลปกครอง ซึ่งก่อนหน้านี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากความผิดฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และตัดสิทธิ์ห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง 5 ปี
จากนั้นกระทรวงการคลังได้ออกหนังสือคำสั่งเรียกคืนความเสียหายจากการจำนำข้าวจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ รวม 35,000 ล้านบาท โดยการดำเนินเรียกคืนความเสียหายอยู่ในขั้นตอนที่ กรมบังคับคดีกำลังเดินหน้ายึดทรัพย์ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อทุเลาคำสั่งบังคับคดีของกระทรวงการคลัง และศาลปกครองอยู่ระหว่างการพิจารณา. – สำนักข่าวไทย