กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – ธนาคารกสิกรไทยปรับประมาณการเงินบาทไตรมาส 3 แข็งค่าถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มั่นใจธปท.ไม่ออกมาตรการคุมการไหลเข้าออก หวั่นกระทบบรรยากาศการลงทุน
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “ตามติดสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าเงินโลก” ว่า เงินบาทไตรมาส 3/2560 ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง คาดว่าจะแข็งค่ามาถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมเคยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า ขณะที่ค่าเงินสิ้นปีน่าจะอ่อนเล็กน้อยที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็ยังแข็งค่าจากเดิมที่คาดไว้ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุหลักมาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่ประกาศไว้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐโตต่ำกว่าที่คาดไว้จะโตประมาณร้อยละ 2.1 จากเดิมคาดว่าจะโตร้อยละ 2.4 ดังนั้น โอกาสธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้คงเป็นไปได้ยาก
“เงินบาทยังทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 27 เดือน และแข็งค่าสุดในเอเชีย โดยตั้งแต่ต้นปี 2560 เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนขาดความมั่นใจในเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลระดับสูง ขณะที่มีการลงทุนเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น” นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีมาตรการป้องกันการเก็งกำไรเงินบาท หลังพบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศในบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ หรือ Non-resident หนาแน่นกว่าปกติในบางช่วงนั้น นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า ธปท.จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงจะไม่มีการออกมาตรการลักษณะคุมเงินไหลเข้าออก (capital control) เหมือนในอดีต เพราะ ธปท.เคยมีบทเรียนจากเมื่อครั้งใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 สำหรับเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่กระทบต่อเงินลงทุนทางตรงด้วย และบรรยากาศการลงทุน ดังนั้น คาดว่าหาก ธปท.จะออกมาตรการดูแลเงินบาทน่าจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการไหลออกของเงินทุนมากกว่า
ส่วนการประกาศอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 3.7 เป็นผลจากการส่งออกขยายตัวดี แต่การบริโภคยังชะลอตัวเล็กน้อย และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อต่ำ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง กดให้ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น ต้องจับตาว่าภาครัฐจะมีนโยบายด้านการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการจับจ่ายใช้สอยให้ดีขึ้นหรือไม่ นอกเหนือจากนโยบายการเงินที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังคงดอกเบี้ยระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป.- สำนักข่าวไทย